การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาการพัฒนาสังคม ขององค์การบริหารส่วนตำบลแข้ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ๒) เพื่อศึกษาการพัฒนาสังคมตามหลัก สาราณียธรรม ขององค์การบริหารส่วนตำบลแข้ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมตามหลักสาราณียธรรม ขององค์การบริหารส่วนตำบลแข้ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสม โดยใช้การวิจัยเชิงปริมาณด้วยการใช้วิธีวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือประชาชนที่มีอายุ ๒๐ ปีขึ้นไปเป็นประชากรในการศึกษา โดยเลือกประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมชน ภายในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลแข้ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน ๓๖๐ คน จากจำนวนประชากร ๔,๖๓๘ คน ซึ่งใช้วิธีการสุ่มตัวอย่าง โดยการเปิดตารางขนาดกลุ่มตัวอย่างของเครซี่และมอร์แกน (R.V.Krejcie & Morgan) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปของประชากร คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ระดับความคิดเห็นต่อการพัฒนาสังคมตามหลักสาราณียธรรม ขององค์การบริหารส่วนตำบลแข้ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ คือ ค่าความถี่ (Frequencies) ร้อยละค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และทดสอบสมมติฐานโดยเพื่อบรรยายข้อมูลปัจจัยส่วนบุคคล การทดสอบค่าที (t-test) เพื่อทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยสองกลุ่ม และการทดสอบค่าเอฟ (F-test) ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA) เพื่อทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยตั้งแต่สามกลุ่มขึ้นไป และทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD) และ การวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) และใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท
ผลการวิจัยพบว่า
๑) การพัฒนาสังคมตามหลักสาราณียธรรม ขององค์การบริหารส่วนตำบลแข้ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ประชาชนมีความคิดเห็นโดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ( = ๓.๐๒) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน มีค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยตามลำดับ คือ ด้านสาธารณโภคี ( = ๒.๙๔) ด้านเมตตามโนกรรม ( = ๒.๙๗) ด้านเมตตาวจีกรรม ( = ๓.๐๒) ด้านสีลสามัญญตา ( = ๓.๐๖) ด้านทิฏฐิสามัญญตา ( = ๓.๐๘) และด้านเมตตากายกรรม ( = ๓.๐๙)
๒) เปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนต่อการพัฒนาสังคมตามหลักสาราณียธรรม ขององค์การบริหารส่วนตำบลแข้ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคลได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพ การศึกษา อาชีพ และรายได้ พบว่า ประชาชนที่มีอายุ สถานภาพ การศึกษา อาชีพ และรายได้ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการพัฒนาสังคมตามหลักสาราณียธรรม ขององค์การบริหารส่วนตำบลแข้ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ส่วนประชาชนที่มีเพศต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการพัฒนาสังคมตามหลัก สาราณียธรรม ขององค์การบริหารส่วนตำบลแข้ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ไม่แตกต่างกัน
๓) ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมตามหลักสาราณียธรรม ขององค์การบริหารส่วนตำบลแข้ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ พบว่าควรทำงานและพัฒนาสังคมด้วยการรับใช้ประชาชนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย มีการวางแผนและการทำงานด้านการพัฒนาให้เหมาะสม เรียงลำดับความสำคัญของปัญหาโดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมเป็นสำคัญ พูดดีต่อกันเพื่อชักนำให้ประชาชนเกิดความสามัคคีปรองดอง และเกิดความรักความเห็นใจซึ่งกันและกัน ทำงานเพื่อส่วนรวม ซื่อตรงต่อตนเอง ต่องาน ต่อบุคคลอื่น เว้นจากการแสวงหาผลประโยชน์แต่ให้การช่วยเหลือจัดสวัสดิการหรือแบ่งปันผลประโยชน์ต่างๆ ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทำงานด้านการพัฒนาสังคมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีวินัยในตนเอง รักษากฎระเบียบที่ตั้งไว้ เคารพความคิดเห็นของกันและกัน เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมประชุมเพื่อเสนอปัญหา และความต้องการในท้องถิ่น แสดงความคิดเห็น วิจารณ์การทำงาน และร้องทุกข์เรื่องราวต่างๆ ได้ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขพัฒนาตนเอง และสังคมอยู่เสมอ
|