วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาชุมชนต้นแบบต่างศาสนาที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ในแขวง วัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร” นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาทฤษฎีทางสังคมวิทยาและหลักคำสอนว่าด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของพระพุทธศาสนา ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม (๒) เพื่อศึกษาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของชุมชนพุทธ คริสต์ อิสลาม ในแขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร และ (๓) เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์หลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของชุมชนพุทธ คริสต์ อิสลาม ในแขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร มาประยุกต์ใช้ กับสังคมไทย
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
ความสงบสุขร่มเย็นเป็นสิ่งที่ปรารถนาของมนุษย์ทุกสังคม มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มแบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน โดยมุ่งหวังจะได้รับความคุ้มครองและได้รับประโยชน์จากกันและกัน ชุมชนแขวงวัดกัลยาณ์ มีพื้นที่ ๐.๗๘๕ ตารางกิโลเมตร มี ๖ ชุมชน ประชากร ๑๐,๕๐๙ คน มีการพัฒนาชุมชนให้มีความเรียบร้อยสะอาด มีสาธารณูปโภคพื้นฐานครบถ้วน มีการอนุรักษ์อาคารสถานที่เก่า ๆ ไว้เป็นอย่างดี ประชาชนในพื้นที่มี ๓ กลุ่ม นับถือพระพุทธศาสนา คริสต์ศาสนา และศาสนาอิสลาม ซึ่งต่างศาสนาต่างก็มีความรักความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกัน มีการทำกิจกรรมร่วมกัน ต่างช่วยกันพัฒนาชุมชน ทำให้ชุมชนมีแต่สันติสุข
ทั้งนี้ก็เพราะว่า ทุกคนมีความสำนึกในชาติ คือถือว่าตนเป็นคนไทย รักผืนแผ่นดินไทย คนไทยทุกคนไม่ว่าเชื้อชาติใด เมื่อมาอยู่ร่วมกันก็ถือเป็นเพื่อนร่วมชาติเป็นพี่น้องกัน อนึ่ง ทุกคนมีศาสนาแม้จะแตกต่างกัน แต่ก็มีหลักการเดียวกัน คือทุกศาสนาสอนให้ตนเป็นคนดี มีน้ำใจ มีเมตตา ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่วิวาทบาดหมางกัน ประกอบอาชีพสุจริตเพื่อสร้างตน สร้างสังคม และประเทศชาติให้มั่นคง ทุกคนมีความจงรักภักดีในพระมหากษัตริย์ แม้จะเป็นชาวพุทธแต่ก็ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาชนด้วยทศพิธราชธรรม เหตุปัจจัยและองค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลให้ประชาชนต่างศาสนาในแขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ซึ่งหลักการและพฤติการณ์ดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสังคมต่างศาสนาในที่อื่น ๆ ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
|