วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลิกภาพตามทฤษฎีตะวันตก (๒) เพื่อศึกษาเสขิยวัตรในพระวินัยปิฎก (๓) เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาบุคลิกภาพตามหลักเสขิยวัตร
ผลการศึกษาวิจัยสรุปได้ดังนี้
บุคลิกภาพ หมายถึงคุณลักษณะส่วนรวมของพฤติกรรมของบุคคล และนับว่ามีความสำคัญเป็นอันมากทั้งในกิจการงานชีวิตภายในบ้านและชีวิตในสังคมโดยทั่วไป บุคลิกภาพย่อมแบ่งออกได้เป็นชนิดต่าง ๆ มากมาย เช่นความยินดีร่าเริง ความน่าเชื่อถือไว้วางใจ ความฉลาด ความสุภาพอ่อนโยน เป็นต้น ซึ่งมีอยู่ในบุคคลมากน้อยผิดกัน บุคลิกภาพจะแสดงออกในรูปของมารยาทผู้ดี หรือมรรยาทสังคม ซึ่งในสังคมไทยจะเรียกว่าสมบัติของผู้ดี ซึ่งรวมอยู่ในหัวข้อสำคัญของสัปปุริสธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา
เสขิยวัตร หมายถึงข้อปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ตามหลักพระวินัยบัญญัติ มี ๗๕ ข้อ จัดเป็น ๗ หมวด คือหมวดที่ ๑ – ๖ หมวดละ ๑๐ ข้อ หมวดที่ ๗ สุดท้ายมี ๑๕ ข้อ สงเคราะห์ลงเป็น ๔ หมวดคือ หมวดสารูป เกี่ยวกับการนุ่งห่มและการเคลื่อนไหวอิริยาบถ หมวดโภชนปฏิสังยุต เกี่ยวกับการฉันหรือรับประทานอาหาร หมวดธัมมเทศนาปฏิสังยุต เกี่ยวกับการแสดงธรรม หรือพูดจาในที่ชุมนุมชน และหมวดปกิณณกะ เกี่ยวกับการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การบ้วนน้ำลายลงในที่สาธารณะ เสขิยวัตรแม้จะเป็นวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ แต่ก็สามารถนำมาปรับใช้ในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ในการนี้เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล) อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้แต่งหนังสือ “สมบัติของผู้ดี” และ ผกาวดี อุตตโมทย์ ก็ได้เสนอแนะเด็กและเยาวชนให้รู้จักกิริยาที่เรียกว่า “มรรยาทงาม” ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักการและหมวดย่อยของเสขิยวัตรอย่างลงตัว
|