การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาการพัฒนาเด็กตามหลักภาวนา ๔ : กรณีศึกษา ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์วัดทุ่งครุ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร ๒) เพื่อเปรียบเทียบการพัฒนาเด็กตามหลักภาวนา ๔ : กรณีศึกษา ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์วัดทุ่งครุ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาปัญหาและข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อการพัฒนาเด็กตามหลักภาวนา ๔ : กรณีศึกษา ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์วัดทุ่งครุ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร
การดำเนินการวิจัยโดยวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกับประชากรกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ปกครองนักเรียน ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์วัดทุ่งครุ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างจำนวน ๑๓๐ คน ซึ่งได้มาโดยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่ใช้ในการวิจัยมีการหาคุณภาพ วิเคราะห์ข้อมูลแบบสอบถามโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ คือ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และใช้สถิติทดสอบสมมติฐานโดยใช้การทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA)
ผลการวิจัยพบว่า
ความคิดเห็นของผู้ปกครองที่มีต่อการพัฒนาเด็กตามหลักภาวนา ๔ : กรณีศึกษา ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์วัดทุ่งครุ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร พบว่า ประชาชนมีความคิดเห็นต่อการพัฒนาเด็กตามหลักภาวนา ๔ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละด้าน พบว่า ด้านศีลภาวนามีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด ที่เหลืออยู่ในระดับมาก
การเปรียบเทียบความคิดเห็นของผู้ปกครองที่มีต่อการพัฒนาเด็กตามหลักภาวนา ๔ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า ประชาชนที่มีเพศ อายุ สถานภาพ การศึกษา อาชีพ และรายได้ที่แตกต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการพัฒนาพุทธศาสนิกชนตามหลักภาวนา ๔ โดยภาพรวมแตกต่างกัน จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้ อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ ๐.๐๑
ข้อเสนอแนะแนวทางเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กตามหลักภาวนา ๔ พบว่า
๑) ด้านภายภาวนา ศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ควรจัดอบรม และกฎเกณฑ์ในการส่งเสริมสุขภาพอนามัยให้แก่เด็กนักเรียน โดยร่วมมือกับวัดและหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้นักเรียนมีสุขภาพกายที่ดีและแข็งแรง
๒) ด้านสีลภาวนา ศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ควรร่วมกับองค์กรทางศาสนาให้มีการส่งเสริมด้านจริยธรรม ปลูกฝังเรื่องการรักษาศีล เพื่อเป็นพื้นฐานให้กับเด็กนักเรียน
๓) ด้านจิตตภาวนา ศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ควรเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการเข้าร่วมกิจกรรมในการเจริญจิตภาวนา หรือให้องค์กรต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าว
๔) ด้านปัญญาภาวนา องค์กรทางศาสนา หรือวัดควรมีนโยบายการเสริมปัญญาให้แก่เด็กนักเรียนอยู่เสมอ โดยมีการสอบวัดความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง
|