หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาดวงเด่น ฐิตญญาโณ (ตุนิน)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๗ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์แนวคิดสังคมนิยมในพุทธปรัชญาเถรวาท (พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ปรัชญา))
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาดวงเด่น ฐิตญญาโณ (ตุนิน) ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๐๖/๒๐๑๔
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาดนัยพัชร์ คมฺภีรปญฺโญ, ดร. ป.ธ. ๖, พธ.บ., พธ.ม.(ปรัชญา), Ph.D.(Phil.)
  ศ.ดร.สมภาร พรมทา ป.ธ. ๘, พธ.บ., อ.ม.(ปรัชญา), อ.ด.(ปรัชญา)
  ศ.ดร.สมภาร พรมทา ป.ธ. ๘, พธ.บ., อ.ม.(ปรัชญา), อ.ด.(ปรัชญา)
วันสำเร็จการศึกษา : 2557
 
บทคัดย่อ

ในการศึกษาวิเคราะห์แนวคิดสังคมนิยมในพุทธปรัชญาเถรวาท  ผู้วิจัยได้ตั้งวัตถุประสงค์ของการศึกษาไว้     ประการ  คือ   (๑)  เพื่อศึกษาแนวคิดสังคมนิยมของคาร์ล  มาร์กซ์  (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดสังคมนิยมในพุทธปรัชญาเถรวาท  และ (๓)  เพื่อวิเคราะห์แนวคิดสังคมนิยมในพุทธปรัชญาเถรวาทภายใต้กรอบแนวคิดของคาร์ล  มาร์กซ์  ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยเชิงเอกสาร

                 จากการศึกษาวิจัยพบว่า  แนวคิดสังคมนิยมของคาร์ล  มาร์กซ์  มีความเชื่อว่าสังคมประวัติศาสตร์ได้ทำการต่อสู้ขัดแย้งกันระหว่างชนชั้นมาโดยตลอด  จากสังคมบรรพกาล  สังคมทาส  สังคมศักดินา  สังคมทุนนิยมและจนถึงสังคมนิยม  ความขัดแย้งดังกล่าวเกิดจากความต้องการที่จะครอบครองวัตถุผลิตไว้เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัว  คาร์ล มาร์กซ์  จึงเสนอให้รัฐกรรมาชีพทำการปฏิวัติด้วยความรุนแรงเด็ดขาด  เพื่อทำการยกเลิกระบบชนชั้น  ระบบกรรมสิทธิ์  และทำการบังคับหรือควบคุมโครงสร้างปัจจัยการผลิตให้ตกเป็นของสังคมส่วนรวม   เพราะสังคมมีความสำคัญมากกว่าปัจเจกบุคคล  และความยุติธรรมหรือความเสมอภาคเท่าเทียมย่อมตั้งอยู่บนพื้นฐานของการผลิตและการแบ่งปัน  ดังนั้น  เมื่อทุกคนเป็นผู้ใช้แรงงานก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้รับค่าตอบแทนตามความสามารถ  เมื่อใดที่วัตถุผลผลิตมีมากเพียงพอที่ทุกคนจะมีโอกาสได้รับตามความต้องการ  เมื่อนั้นสังคมก็จะก้าวเข้าสู่สังคมคอมมิวนิสต์ที่ปราศจากรัฐและชนชั้น   คงเหลือแต่โครงสร้างของระบบการบริหารจัดการ

                  แนวคิดสังคมนิยมของพระพุทธเจ้าเกิดจากการปฏิเสธระบบวรรณะ  ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งหรือตรงข้ามกัน  ๒ กลุ่ม ได้แก่  กลุ่มชนชั้นนำที่ครอบครองปัจจัยการผลิต  คือ กษัตริย์ พราหมณ์  แพศย์  และกลุ่มชนชั้นต่ำที่ปราศจากปัจจัยการผลิต คือ ศูทร   สภาพของสังคมเกิดมีความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันทั้งในด้านการเมือง  การศึกษาและเศรษฐกิจ   พระองค์จึงทรงสร้างสังคมสงฆ์ให้เป็นสังคมแห่งทางเลือกและการปลดปล่อยด้วยพุทธวิธี  คือ การอุปสมบท   ระบบพรรษา  ระบบอุปัชฌาย์อาจารย์   ระบบทรัพย์สินของสงฆ์ส่วนกลาง   สงฆ์จะต้องให้ความสำคัญ  เคารพและยำเกรงในความเป็นสังคมสงฆ์  และจะต้องยึดถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันหมด คือ พระธรรมวินัย  

                  สังคมสงฆ์ได้กลายเป็นสังคมนิยมที่มีแนวคิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน  กล่าวคือ   พระพุทธเจ้าทรงใช้สันติวิธีที่จะไม่เข้าไปทำลายสังคมเก่า  ทรงใช้เผด็จการโดยธรรมเพื่อให้เกิดความศรัทธาเชื่อมั่นและการยินยอมที่จะปฏิบัติตามโดยสมัครใจ   ในขณะที่สังคมเก่ายังคงเป็นสังคมศักดินาแบบเข้มข้น  สังคมสงฆ์กลับยกเลิกระบบชนชั้นวรรณะและยกเลิกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนตัว  และก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมรวมหมู่ที่มีธรรมเนียมปฏิบัติเหมือนกันหมด  ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปัจจัย  ๔ เท่าที่จำเป็น   การไม่สะสมส่วนเกิน  การมุ่งเสียสละเพื่อสร้างประโยชน์สุขต่อสังคมส่วนรวม   สังคมสงฆ์ได้กลายเป็นสังคมที่สงฆ์ทุกรูปมีสิทธิ์   มีโอกาส  มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน  ทั้งในด้านวัตถุและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  นอกจากนี้สังคมสงฆ์ยังมีความเป็นอิสระในการปกครองดูแลกันเอง  ภายใต้ระบบหรือรูปแบบการบริหารจัดการที่ถูกกำหนดไว้แล้วตามเงื่อนไขแห่งพระธรรมวินัย   สังคมสงฆ์จึงเป็นสังคมที่ปราศจากชนชั้น ปราศจากผู้นำปกครองในเชิงปัจเจกชน  แต่เป็นสังคมที่ดำรงอยู่ได้โดยอาศัยความเป็นสังคมหนึ่งเดียว

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕