การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาสื่อการสอนธรรมและสัมฤทธิผลที่เกิด จากการใช้สื่อการสอนธรรมแบบรายบุคคลในพระพุทธศาสนา ๒) ศึกษาสัมฤทธิผล และเจตคติในการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนกาวิละวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ที่เรียนจากสื่อการสอนธรรมแบบรายบุคคล (บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน) ในรายวิชา ส๒๓๑๐๓ พระพุทธศาสนา ๕ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เรื่อง หลักธรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา และ ๓) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างนักเรียนที่เรียนจากสื่อการสอนธรรมแบบรายบุคคล (บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน) กับนักเรียนที่เรียนด้วยวิธีสอนแบบปกติในรายวิชา ส๒๓๑๐๓ พระพุทธศาสนา ๕ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เรื่อง หลักธรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม ได้แก่ (๑) กลุ่มทดลอง เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓/๔ ปีการศึกษา ๒๕๕๖ จำนวน ๓๐ คน ได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย (Simple random sampling) โดยการจับสลาก และใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม เนื่องจากโรงเรียนกาวิละวิทยาลัย ใช้ระบบการจัดห้องเรียนแบบคละชั้นเรียน ที่นักเรียนแต่ละห้องมีลักษณะของนักเรียนคล้ายกัน (๒) กลุ่มควบคุม เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓/๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๖ จำนวน ๓๐ คน ได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย (Simple random sampling) โดยการจับสลาก และใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยของกลุ่มทดลอง ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ สื่อการสอนธรรมแบบรายบุคคล (บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน) แบบทดสอบก่อนและหลังการเรียน และแบบวัดเจตคติหลังเรียน ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยของกลุ่มควบคุม ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบก่อนและหลังการเรียน และแบบวัดเจตคติหลังเรียน
การวิจัยปรากฏผลดังนี้
๑. สื่อการสอนธรรมแบบรายบุคคลและสัมฤทธิผลของสื่อการสอนธรรมแบบรายบุคคลในพระพุทธศาสนา พบว่าสื่อการสอนธรรมแบบรายบุคคลในพระพุทธศาสนามี ๔ ประเภท ได้แก่ สื่อบุคคล สื่อเทคนิควิธีการ สื่อสิ่งพิมพ์-วัสดุอุปกรณ์ และสื่อโสตทัศนูปกรณ์ ซึ่งทรงใช้ประกอบการสอนโดยพิจารณาตามความเหมาะสมกับบุคคล สถานการณ์ สถานที่ และเวลา ส่วนสัมฤทธิผลของสื่อการสอนธรรมแบบรายบุคคลในพระพุทธศาสนา พบว่าผู้ที่รับฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ได้รับผลสำเร็จแตกต่างกันไป ตามแต่จริต ความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล โดยผลสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นมีตั้งแต่ผลเบื้องต้นคือ ความเข้าใจในธรรมะของพระพุทธองค์ และหันมาเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้า จนถึงการบรรลุธรรมขั้นสูงสุด คือการบรรลุอรหันต์
๒. สัมฤทธิผล และเจตคติในการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนกาวิละวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ที่เรียนจากสื่อการสอนธรรมแบบรายบุคคล (บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน) พบว่า
๑) สัมฤทธิผลด้านความก้าวหน้าทางการเรียนของนักเรียนกลุ่มทดลอง พบว่า นักเรียน มีความก้าวหน้าทางการเรียนเฉลี่ยร้อยละ ๓๖.๒๕ คิดเป็นร้อยละ ๑๐๐ สูงกว่าเกณฑ์ความก้าวหน้าทางการเรียนที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ ๒๕ ขึ้นไป
๒) สัมฤทธิผลตามเกณฑ์มาตรฐานของโรงเรียน พบว่ามีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ร้อยละ ๖๐ หรือ มีระดับคุณภาพในระดับดี ขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ ๑๐๐ สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของโรงเรียนที่กำหนดให้นักเรียนร้อยละ ๖๕ มีคะแนนร้อยละ ๖๐ ขึ้นไป หรือมีระดับคุณภาพในระดับดีขึ้นไป
๓) สัมฤทธิผลของนักเรียนกลุ่มทดลอง โดยการทดสอบที (t-test) พบว่านักเรียน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .๐๐๑
๔) สัมฤทธิผลด้านเจตคติของนักเรียน พบว่านักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อสื่อการสอนธรรมแบบรายบุคคล (บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน) ในระดับมากที่สุด ( มีค่าเท่ากับ ๔.๗๕)
๓. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนจากสื่อการสอนธรรมแบบรายบุคคล (บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน) กับนักเรียนที่เรียนด้วยวิธีสอนแบบปกติในรายวิชา ส๒๓๑๐๓ พระพุทธศาสนา ๕ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เรื่อง หลักธรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา
๑) ผลการเปรียบเทียบสัมฤทธิผลด้านความก้าวหน้าทางการเรียนของนักเรียน พบว่าร้อยละของความก้าวหน้าทางการเรียน ของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุม ร้อยละ ๑.๔๓ แสดงว่าสื่อการสอนธรรมแบบรายบุคคล (บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ช่วยให้สัมฤทธิผลด้านความก้าวหน้าทางการเรียนของนักเรียนกลุ่มทดลอง สูงกว่านักเรียนกลุ่มควบคุม
๒) ผลการเปรียบเทียบสัมฤทธิผลตามเกณฑ์มาตรฐานของโรงเรียน พบว่านักเรียนกลุ่มทดลองมีร้อยละของผลสัมฤทธิ์ตามเกณฑ์มาตรฐานการเรียนรู้ของโรงเรียนในระดับดีมากสูงกว่านักเรียนกลุ่มควบคุม คิดเป็นร้อยละ ๔๙.๙๖ แสดงว่าสื่อการสอนธรรมแบบรายบุคคล (บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ช่วยให้สัมฤทธิผลตามเกณฑ์มาตรฐานการเรียนรู้ของโรงเรียนของนักเรียนกลุ่มทดลอง สูงกว่านักเรียนกลุ่มควบคุม
๓) ผลการเปรียบเทียบสัมฤทธิผลโดยการทดสอบที (t-test) พบว่านักเรียนที่เรียนจากสื่อการสอนธรรมแบบรายบุคคล (บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน) กับ นักเรียนที่เรียนด้วยวิธีสอนแบบปกติ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .๐๐๑
๔) ผลการเปรียบเทียบสัมฤทธิผลด้านเจตคติของนักเรียน พบว่านักเรียนที่เรียนจากสื่อการสอนธรรมแบบรายบุคคล (บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน) กับ นักเรียนที่เรียนด้วยวิธีสอนแบบปกติ มีเจตคติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .๐๐๑
|