การศึกษาวิจัยเรื่อง “การจัดการทรัพยากรน้ำเชิงบูรณาการแนวพุทธ : กรณีศึกษากลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำปิง จ.เชียงใหม่”มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาการจัดการทรัพยากรน้ำตามหลักพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาการจัดการทรัพยากรน้ำของกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำปิง จ.เชียงใหม่ และ ๓) เพื่อศึกษาการจัดการทรัพยากรน้ำเชิงบูรณาการแนวพุทธของกลุ่มอนุรักษ์ ลุ่มน้ำปิง จ.เชียงใหม่ การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสารและเชิงคุณภาพ แล้วนำมาวิเคราะห์ให้เห็นกระบวนการจัดการทรัพยากรน้ำ ผลการศึกษาพบว่า
การจัดการทรัพยากรน้ำตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นการจัดการทรัพยากรน้ำให้คุ้มค่าและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องอิงอาศัยการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทรัพยากรน้ำด้วย ส่วนความสำคัญของทรัพยากรน้ำได้แก่ มีความสัมพันธ์ในแง่พึ่งหาอาศัยกับทรัพยากรชนิดอื่นเช่น ป่าไม้ ในลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตให้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ มีความสำคัญในแง่การจัดการเพื่อเกษตรกรรม และเป็นสถานที่รื่นรมย์ พักผ่อนหย่อนใจ และแสดงออกโดยผ่านหลักพุทธธรรม พระวินัย ศาสนพิธี และบทบาทของพระสงฆ์
การจัดการทรัพยากรน้ำของกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำปิง จ.เชียงใหม่ เป็นการจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกันระหว่าง หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชนและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มชุมชนลุ่มน้ำปิง และพระสงฆ์เข้ามามีส่วนร่วม โดยเห็นว่าทรัพยากรน้ำเป็นของสาธารณะจึงมีการจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกัน มีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ และใช้อำนาจรัฐในการจัดการทรัพยากรน้ำ
สำหรับการจัดการทรัพยากรน้ำเชิงบูรณาการแนวพุทธของกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำปิง จ.เชียงใหม่ เป็นการจัดการแบบบูรณาการโดยใช้หลักพุทธธรรม อำนาจรัฐ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และกระบวนการชุมชนในการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย
ส่วนรูปแบบการจัดการทรัพยากรน้ำเชิงบูรณาการที่มีประสิทธิภาพนั้น ควรสร้างคุณธรรมในจิตใจ ใช้กฎหมายควบคุมพฤติกรรม ดำเนินงานแบบเครือข่าย และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น
|