บทคัดย่อ
สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาทฤษฎีเกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์โดยศึกษาจากทฤษฎีการเรียนรู้ของสกินเนอร์ ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความสอดคล้องพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท และพฤติกรรมการเรียนรู้ของสกินเนอร์
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า แนวคิดเรื่องพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์ในพระพุทธศาสนาเถรวาทได้ยึดแนวการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขา สามารถฝึกฝนตนเองจากเดิมเป็นปุถุชนจนถึงอริยะบุคคล ส่วนพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์ตามแนวคิดของสกินเนอร์ เน้นการเรียนรู้โดยการสังเกตพฤติกรรมและปฏิบัติตาม เมื่อนำมาวิเคราะห์ความสอดคล้องพบว่า แนวคิดทางพระพุทธศาสนาและสกินเนอร์ มีทั้งประเด็นที่เหมือนกันและแตกต่างกัน
ประเด็นที่เหมือนกัน คือ การเรียนรู้เกิดจากการปฏิสัมพันธ์เชื่อมต่อและมีอิทธิพลถึงกันอย่างเป็นระบบระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม โดยที่มนุษย์รับรู้โลกภายนอกผ่านประสาทสัมผัส การรับรู้แต่ละอย่างจะมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง มีปัจจัยภายนอกทั้งปรโตโฆสะและตัวแบบเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้ มีปัจจัยภายในทั้งโยนิโสมนสิการและพินิจ พิจารณา เป็นแหล่งประมวลผล เรียนรู้จากปัจจัยภายนอกเข้าสู่ปัจจัยภายในโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขา และสังเกตตัวแบบ ทำให้มีการพัฒนาฝึกฝนอบรมตนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้ง พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา สามารถนำผลการเรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเองและบุคคลในสังคมให้มีศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม ส่วนประเด็นที่แตกต่าง คือ สกินเนอร์เน้นการพัฒนาพฤติกรรม แต่พระพุทธศาสนาเน้นการพัฒนาทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา
ดาวน์โหลด |