บทคัดย่อ
แนวคิดเกี่ยวกับครอบครัวในคัมภีร์พระพุทธศาสนาพบว่า การสร้างครอบครัวมีอยู่ ๒ ช่วงลำดับ คือ (๑) จุดเริ่มต้นของการสร้างครอบครัวในยุคแรกของมนุษย์นั้นเกิดจากความใกล้ชิดแล้วนำไปสู่ความพึงพอใจในทางกามารมณ์ต่อมาก่อให้เกิดการสร้างครอบครัวขึ้นตามลำดับ (๒) การสร้างครอบครัวเกิดจากความรักและความใกล้ชิดด้วยอำนาจกรรมเก่าที่เคยเป็นสามีภรรยาและกรรมใหม่ในปัจจุบันที่เกิดจากความใกล้ชิดความเห็นอกเห็นใจและบริบททางสังคม ได้แก่ ความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดให้หญิงชายต้องแต่งงานเพื่อให้กำเนิดบุตรชาย
จากการสร้างครอบครัวนี้บางครอบครัวมีปัญหาสร้างความรุนแรงขึ้นในครอบครัวและมีผลกระทบต่อสังคมซึ่งมีสาเหตุ ๒ อย่าง คือ ๑) สาเหตุทางด้านร่างกายและจิตใจซึ่งถูกขับเคลื่อนจากเหตุภายในคือ ราคะ โทสะ โมหะ ๒) เกิดจากปัจจัยทางด้านโครงสร้างทางสังคม ได้แก่ ระบบปิตาธิปไตยและระบบวรรณะ ซึ่งผลจากความรุนแรงในครอบครัวทำให้เกิดผล ๒ อย่าง คือ (๑) ผลที่เกิดต่อตนเองได้แก่ ทำให้ตนเองเดือนร้อนทั้งโลกนี้และโลกหน้า เป็นเหตุแห่งการก่อเวรภัยและเป็นเหตุแห่งการเสื่อมจากมรรคผลนิพพานในชาติปัจจุบัน (๒) ผลที่เกิดต่อระบบโครงสร้างทางสังคม ได้แก่ ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคทางสังคมและมีผลกระทบต่อระบบอื่น ๆ ทางสังคม เช่น การเมือง และเศรษฐกิจ
วิธีแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมี ๒ วิธี คือ ๑) วิธีแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวทางด้านร่างกายและจิตใจ ได้แก่ ประพฤติตนอยู่ในศีล ประพฤติตนอยู่ในธรรม และการพัฒนาจิตโดยวิธีคิดแบบพุทธธรรม ๒) วิธีแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวทางด้านโครงสร้างทางสังคมมี ๓ อย่าง คือ ทางด้านสังคม ได้แก่ มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว มีความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ และการเสวนากับคนดี ทางด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ เว้นจากมิจฉาอาชีวะและการดำเนินชีวิตอันเป็นเหตุให้เสียทรัพย์ ดำเนินชีวิตโดยสุจริตและปัญญา หลักการแสวงหาทรัพย์ และหลักการใช้จ่ายทรัพย์ และทางด้านการศึกษา ได้แก่ การปรับความรู้ความเข้าใจให้ตรงกัน การฝึกฝนพัฒนาตนเอง ซึ่งผลจากการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมี ๒ อย่าง คือ (๑) ผลที่เกิดต่อตนเอง ทำให้ประสบความสุขความเจริญทั้งโลกนี้และโลกหน้า มีความเป็นอยู่โดยปราศจากเวรภัยและเป็นเหตุแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพานในชาติปัจจุบัน (๒) ทำให้เกิดความเสมอภาคทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการศึกษา
ดาวน์โหลด |