บทคัดย่อ
สารนิพนธ์เล่มนี้ มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ๒ ประการ คือ ๑). เพื่อศึกษา มูลกัมมัฏฐานที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ๒). เพื่อศึกษาวิเคราะห์มูลกัมมัฏฐานในฐานะเป็นกุศโลบายเพื่อการปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ เน้นการศึกษาเอกสารโดยทำการรวบรวมข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา เอกสารตำราและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์อธิบายในเชิงพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า มูลกัมมัฏฐาน หมายถึงลักษณะที่ตั้งแห่งการงานของใจ ๕ ข้อคือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ซึ่งเป็นกัมมัฏฐานที่ใช้ในการฝึกจิตใจของผู้บวชใหม่ให้มีความสงบและเป็นสมาธิ ได้แบ่งออก ๒ ประเภท คือ ให้บริกรรมและให้พิจารณากัมมัฏฐานทั้ง ๕ ข้อ อันประกอบด้วยลักษณะเป็นสิ่งน่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา ความสำคัญคือ ใช้เป็นอุปกรณ์ในการฝึกใจให้เกิดสมาธิและปัญญา การปฏิบัติที่ดีควรเลือกสถานที่ที่มีความเหมาะสมต่อการปฏิบัติธรรม เพราะจะทำให้จิตใจเกิดความสงบเป็นสมาธิได้เร็ว ฉะนั้น การปฏิบัติที่ดีจะต้องมีเป้าหมายในการปฏิบัติของตนเพื่อให้มีภาวะที่เกิดความรู้แจ้ง ดับทุกข์ แต่การจะก้าวไปถึงจุดมุ่งหมายได้นั้นต้องมีคุณธรรมมากมายมาเกื้อกูล เช่น พละ ๕ เป็นต้น
การปฏิบัติธรรมที่ทำให้จิตใจเกิดผลเนินช้าเพราะมีอุปสรรคมาขัดขวาง ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องกำจัดอุปสรรคต่างๆ ให้หมดไปก่อน ด้วยวิธียึดเอาหลักธรรมที่มีความเกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรม เพื่อจะทำจิตให้ใจเกิดความสงบและเป็นสมาธิได้เร็ว เช่น ในสมัยพุทธกาลและปัจจุบันที่ได้รับผลประโยชน์จากการปฏิบัติมูลกัมมัฏฐาน คือ เป็นผู้มีความอดทนต่อภัย ความหนาว ความร้อน ความหิวได้ เป็นผู้ได้ฌานและสามารถแสดงฤทธิ์ต่างๆ เช่น สามารถกำหนดรู้วาระจิตของผู้อื่น สัตว์อื่นได้ เมื่อปฏิบัติให้มากแล้วย่อมทำให้แจ้งซึ่งปัญญาวิมุตติ เป็นต้น
จากการศึกษาวิเคราะห์พบว่า มูลกัมมัฏฐานในฐานะที่เป็นกุศโลบายเพื่อการปฏิบัติธรรม เมื่อทำให้มากแล้วย่อมได้รับประโยชน์ คือ ทำให้เข้าใจความจริงของร่างกายของตนและคนอื่นมากยิ่งขึ้น ทำให้ไม่ยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย ไม่เป็นทุกข์และทำให้ได้รับอานิสงส์สูงสุด คือ ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ที่เป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาเถรวาท.
ดาวน์โหลด |