บทคัดย่อ
สารนิพนธ์เรื่อง พัฒนาการของการให้อภัยโทษในสังคมไทยปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการให้อภัยโทษในสังคมไทยและศึกษาวิเคราะห์พัฒนาการของการให้อภัยโทษบนฐานคิดเรื่องอภัยทานในพระพุทธศาสนาเป็นการศึกษาและวิเคราะห์จากตำรา หนังสือทางวิชาาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ผลการศึกษาพบว่าแนวคิดและรูปแบบการให้อภัยโทษของสังคมไทย มีแนวคิดตามหลักธรรมพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับเมตตาธรรมและอภัยทาน นอกจากอภัยทานเป็นการให้ที่เป็น
มหาทานซึ่งเป็นการสร้างบารมีขั้นสูงแล้ว อภัยทานยังมีคุณค่าและความสำคัญในด้านอื่น ๆ อีก
หลายประการ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ อภัยทานเป็นการพัฒนาจิตใจที่เป็นลักษณะแห่งความก้าวหน้า
ของมนุษย์ เป็นการพัฒนาชีวิตที่มีความสำคัญยิ่ง ด้านหลักธรรมที่เป็นแนวทางของการปฏิบัติ ซึ่งเป็นกรอบของวิธีการปฏิบัติของอภัยทานคือ พรหมวิหารธรรม สาธารณียธรรม และสังคหวัตถุ ๔ โดยวิธีการปฏิบัติของอภัยทานนั้นแบ่งออกได้เป็น ทางมโนกรรม ทางวจีกรรม และทางกายกรรม ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งสัมพันธ์กับหลักการปกครองที่พระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจทั้งพระเดชและพระคุณ เพื่อต้องการให้ผู้ได้รับโทษกลับตัวกลับใจมาทำความดีและทำประโยชน์ต่อตนเองและประเทศชาติ หลักธรรมที่พระมหากษัตริย์ทรงยึดมั่นตั้งแต่อดีตคือ พรหมวิหาร จักรวรรดิวัตร ราชสังคหวัตถุ ทศบารมีและทศพิธราชธรรม ส่วนรูปแบบการปกครองจะมี ๔ แบบ คือ การปกครองแบบพ่อปกครองลูก แบบธรรมราชา แบบเทวราช และการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษตามรูปแบบการปกครองที่แตกต่างไปแต่ละยุคสมัย ผลของการอภัยโทษนอกจากจะเป็นการแผ่บุญบารมีแห่งองค์ประมุขสู่พสกนิกรของพระองค์แล้ว ยังเป็นมาตรการที่ช่วยเยียวยาแก้ไขความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ และเป็นพุทธสันติวิธีที่จะเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งการสมานฉันท์ของคนในประเทศชาติได้
ดาวน์โหลด |