บทคัดย่อ
สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาวิเคราะห์คำสอนเรื่องสัมมาอาชีวะในพระไตรปิฎกอย่างเป็นระบบให้เกิดเป็นองค์ความรู้ที่ถูกต้องและชัดเจนซึ่งสอดคล้องกับหลักการของพระพุทธศาสนาโดยรวม ๒) เพื่อศึกษาหาเกณฑ์วินิจฉัยความเป็นสัมมาอาชีวะจากพระไตรปิฎก
จากการศึกษาพบว่า นิยามของสัมมาอาชีวะที่สอดรับกับข้อมูลจากพระไตรปิฎก รวมทั้งคำอธิบายของคัมภีร์ชั้นรองอื่นๆ และมีความครอบคลุมมากที่สุด ได้แก่ นิยามที่ว่า สัมมาอาชีวะ หมายถึง การเลี้ยงชีวิตด้วยกุศลกรรม คือ กายสุจริต ๓ วจีสุจริต ๔ เป็นเบื้องต้น ตลอดจนมีความเพียรในการชำระ ขัดเกลากิเลสที่เนื่องด้วยการเลี้ยงชีวิตนั้น ให้เบาบางลงเรื่อยๆ จนกว่าจิตใจจะ “บริสุทธิ์” และ “ผ่องแผ้ว” ในที่สุด นิยามดังกล่าวยังสอดคล้องกับการที่พระไตรปิฎกแบ่งสัมมาอาชีวะออกเป็น ๒ ระดับ คือสัมมาอาชีวะที่ยังมีอาสวะ กับสัมมาอาชีวะที่ไม่มีอาสวะ
ส่วนความสำคัญของสัมมาอาชีวะนั้น สามารถมองได้ ๒ ระดับ ได้แก่ (๑)สัมมาอาชีวะระดับธรรม หมายถึงสัมมาอาชีวะในฐานะที่เป็นองค์มรรคหนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ และในฐานะที่เป็นศีลซึ่งทำหน้าที่เป็นบาทฐานให้แก่สมาธิและปัญญา (๒) สัมมาอาชีวะระดับวินัย หมายถึงสัมมาอาชีวะที่ทำหน้าที่เป็นกรอบกำหนดกายกรรมและวจีกรรมในการเลี้ยงชีพของบุคคลให้สุจริต และเพื่อประโยชน์แก่หมู่คณะ
กล่าวสำหรับเกณฑ์วินิจฉัยความเป็นสัมมาอาชีวะ เพื่อให้มีความครอบคลุมรอบด้านมากที่สุด ควรพิจารณาทั้งหมด ๔ ประเด็น ได้แก่ (๑) แรงจูงใจของผู้ประกอบอาชีพ (๒) ตัวอาชีพ (๓) กระบวนการประกอบอาชีพ และ (๔) ผลจากการประกอบอาชีพ
ดาวน์โหลด |