บทคัดย่อ
สารนิพนธ์ เรื่องกำเนิดและพัฒนาการรามัญนิกายในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษากำเนิดรามัญนิกาย ๒)เพื่อศึกษารามัญนิกายในประเทศไทย ๓) เพื่อศึกษาพัฒนาการของรามัญนิกายในประเทศไทย
จากการวิจัยพบว่า พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาของประเทศไทย มีหลายนิกาย แต่นิกายหนึ่งที่โดดเด่น และได้รับการยอมรับว่าเป็นคณะสงฆ์ที่ปฏิบัติเคร่งครัดถูกต้อง สอดคล้องตามพระธรรมวินัย คือคณะสงฆ์รามัญนิกาย ซึ่งได้รับพระพุทธศาสนาเมื่อพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เป็นประธานจัดทำสังคายนาครั้งที่ ๓ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๑๘ ได้ส่งพระโสณเถระและพระอุตตรเถระมายังสุวรรณภูมิพร้อมด้วยพระสงฆ์ ๕ รูป ประดิษฐานพระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ ต่อมาสมณวงศ์ในรามัญประเทศเสื่อมลง เพราะเกิดวิบัติต่าง ๆ ในบ้านเมือง เป็นมูลเหตุให้พระสงฆ์แตกแยกแบ่งออกเป็นหลายนิกาย
เมื่อพระเจ้าธรรมเจดีย์ขึ้นเสวยราชสมบัติเมืองหงสาวดีในปี พ.ศ. ๒๐๑๕ ทรงมีพระราชดำริจะทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ รวมสังฆมณฑลให้เป็นนิกายเดียวกัน จึงทรงโปรดให้พระมหาเถระผู้เป็นคณาจารย์ไปรับการอุปสมบทต่อนิกายมหาวิหารในลังกาทวีป ให้มีคณะสงฆ์รามัญนิกายบริสุทธิ์เกิดขึ้นเสียก่อน แล้วกลับมาอุปสมบทให้แก่ผู้อื่นจนมีพระสงฆ์วงศ์มหาวิหารวงศ์เดียวในรามัญประเทศ
รามัญนิกายเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย โดยพระภิกษุชาวไทย ได้เดินทางไปยังอาณาจักรมอญ บวชแปลงใหม่ตามลัทธิวิธีของรามัญ แล้วอยู่เรียนพระธรรมวินัย ในอาณาจักรนั้น จนมีความรู้ความสามารถแล้ว จึงกลับมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามอย่างลัทธิรามัญ
การปกครองคณะสงฆ์รามัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้แยกออกไปต่างหากจากคณะสงฆ์ไทย มีเจ้าคณะใหญ่ปกครองและมีพระราชาคณะรองลงมาเป็นผู้ช่วยการคณะ สำหรับการศึกษาพระสงฆ์มอญศึกษาวินัยเป็นสำคัญ เดิมกำหนดเป็น ๓ ประโยค ภายหลังเพิ่มขึ้นเป็น ๔ ประโยค ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงปรับปรุงการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย ทรงเปลี่ยนมาเป็นการสอบด้วยวิธีเขียน รวมของพระสงฆ์มอญด้วย และในที่สุดทรงให้เลิกการสอบพระปริยัติธรรมแบบมอญเสีย ทรงให้มารวมศึกษาเล่าเรียนและสอบแบบไทยจนถึงปัจจุบัน
พระสงฆ์รามัญเป็นผู้ปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัยตั้งแต่โบราณ ในด้านวัตรปฏิบัติและการสังวัธยายต่าง ๆ เป็นไปตามแบบอย่างที่เคยปฏิบัติมาเมื่อครั้งอยู่ในอาณาจักรรามัญ จนทำให้พระภิกษุสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นผู้นำ ดำเนินการปรับปรุงก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้น โดยทรงยกย่องรามัญนิกายเป็น “ครู”
ด้านธรรมเนียมของรามัญนิกายที่สำคัญอย่างหนึ่งที่สืบเนื่องมาแต่โบราณ คือการสวดพระปริตรแบบรามัญ เป็นการสวดเพื่อคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ทุกวันธรรมสวนะ จะมีพระปริตรรามัญ ๔ รูป ทำหน้าที่สวดพระปริตร ทำน้ำพระพุทธมนต์ที่หอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวัง จนถึงปัจจุบัน
ดาวน์โหลด |