บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๒ ข้อคือ๑.ศึกษาพฤติกรรมเชิงจริยธรรมในสังคมมนุษย์ในจักกวัตติสูตร ๒.วิเคราะห์พฤติกรรมเชิงจริยธรรมในสังคมมนุษย์ที่มีผลกระทบต่ออายุและทรัพยากรธรรมชาติในจักกวัตติสูตร
ข้อแรกพบว่า พฤติกรรมเชิงจริยธรรมในสังคมมนุษย์ในจักกวัตติสูตรมี ๑๗ ประการคือ๑. งดเว้นปาณาติบาต, ๒. งดเว้นจากอทินนาทาน, ๓. งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร, ๔. งดเว้นจากมุสาวาท, ๕. งดเว้นจากปิสุณาวาจา, ๖. งดเว้นจากผรุสวาจา, ๗. งดเว้นจากสัมผัปปลาปะ, ๘. ละอภิชฌา, ๙. ละพยาบาท, ๑๐. ควรละมิจฉาทิฐิ, ๑๑. ละอธรรมราคะ, ๑๒. ละวิสมโลภะ, ๑๓. ละมิจฉาธรรม, ๑๔. ปฏิบัติชอบในมารดาบิดาและในสมณะพราหมณ์, ๑๕. การประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล,๑๖.งดเว้นการสมสู่ไม่เลือกหน้า,๑๗.งดเว้นการเคียดแค้นฆ่าไม่เลือกคน
ข้อที่สองพบว่า เมื่อประชากรส่วนใหญ่ของสังคมโลกไม่กระทำพฤติกรรมทั้ง ๑๗ ประการได้ส่งผลต่ออายุมนุษย์คือมนุษย์มีอายุน้อยลงจาก ๘๐,๐๐๐ ปีจนเหลืออายุ ๑๐ ปี แต่เมื่อประชากรส่วนใหญ่ของสังคมโลกได้กระทำพฤติกรรม ๑๗ ประการอายุของมนุษย์จะยืนขึ้นจาก ๑๐ ปีไปจนถึง ๘๐,๐๐๐ ปี ส่วนทรัพยากรธรรมชาติก็เช่นเดียวกับอายุมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีพฤติกรรมฝ่ายเสื่อม ทรัพยากรธรรมชาติก็เสื่อมลงเช่นกัน เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี ธรรมชาติถูกทำลาย เนื้อสัตว์ ข้าวสุก เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และเกลือ หมดไปจากโลก แต่เมื่อมนุษย์มีพฤติกรรมในทางเจริญทรัพยากรธรรมชาติก็เจริญขึ้นเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงของอายุมนุษย์เป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตาคือนิยาม ๕ ว่า จิตเปลี่ยน กรรมเปลี่ยน จะมีผลให้โลกเปลี่ยนในทางเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงได้ แต่การเปลี่ยนนั้น จะเปลี่ยนตามธรรมชาติคือธรรมนิยาม มิได้เปลี่ยนตามใจคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ดาวน์โหลด |