บทคัดย่อ
สารนิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษาเรื่องจริยธรรมทางธุรกิจของผู้บริหารที่มีต่อพนักงานในมุมมองทางพระพุทธศาสนา มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย คือ (๑) ศึกษาหลักจริยธรรมและหลักธรรมที่เกี่ยวกับธุรกิจ (๒) ศึกษาวิเคราะห์จริยธรรมทางธุรกิจของผู้บริหารที่มีต่อพนักงานในมุมมองทางพระพุทธศาสนา โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
จากการศึกษาหลักจริยธรรมและหลักธรรมที่เกี่ยวกับธุรกิจ พบว่า ธุรกิจและสังคมต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การดำเนินงานอย่างมีจริยธรรมของผู้บริหาร คือ การประพฤติถูกต้อง ดีงาม สังคมยอมรับและเกิดประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม โดยผู้บริหารต้องมีจริยธรรมทั้งระดับความคิดและการปฏิบัติตามหน้าที่ที่รับผิดชอบเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีขององค์กร นอกจากนี้ยังมีจริยธรรมต่อพนักงานในด้านการจ้างงาน ด้านสภาพการทำงาน และด้านสิทธิในที่ทำงานของพนักงาน เพื่อให้เกิดความชอบธรรมและสร้างสมดุลของผลประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายอย่างเหมาะสม ส่วนหลักธรรมที่เกี่ยวกับธุรกิจ พบว่า ผู้บริหารควรฝึกตนให้มีความพร้อมที่จะบริหารงานก่อนจึงจะสามารถปกครองพนักงานให้ทำงานมีประสิทธิภาพได้ การดำเนินงานของผู้บริหารเริ่มต้นที่การคิดวางแผนงานที่ถูกต้องชอบธรรม เมื่อได้แผนงานขององค์กรแล้วผู้บริหารจะปฏิบัติต่อพนักงานในทุกขั้นตอนของการบริหารงานด้วยการพูดและการกระทำที่ดี และมีการประเมินผลในตอนท้าย ซึ่งผู้บริหารควรปฏิบัติหน้าที่ตามทิศเบื้องล่างของหลักทิศ ๖ และสังคหวัตถุ ๔ เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความสามัคคีให้เกิดขึ้นในองค์กร
จากการศึกษาวิเคราะห์จริยธรรมทางธุรกิจของผู้บริหารที่มีต่อพนักงานในมุมมองทางพระพุทธศาสนา พบว่า จริยธรรมของผู้บริหารเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีเป็นอันดับแรก เนื่องจากผู้บริหารต้องปกครองตนเองให้มีพฤติกรรมที่ถูกต้องดีงามจนเป็นแบบอย่างที่ดีได้ก่อน จึงจะปกครองหรือบริหารพนักงานให้ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารควรเริ่มต้นการวางแผนจากความคิดที่ดีเพื่อกำหนดเป้าหมายกำไรที่เป็นธรรมและทิศทางการบริหารงานที่ไม่มีโทษ ขณะบริหารงานก็ควรมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงาน ในตอนท้ายจะมีการประเมินผลว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรผู้บริหารต้องทำความเข้าใจตามความเป็นจริงของสรรพสิ่งและดำรงสติให้มั่น เพื่อป้องกันการละเมิดจริยธรรมในการบริหารงาน นอกจากนี้ผู้บริหารควรมองและปฏิบัติต่อพนักงานในฐานะเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่ามากที่สุดในองค์กร ซึ่งมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน มีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง มีสิทธิและหน้าที่ตามสมควรแก่ฐานะ จึงไม่ควรดูหมิ่นและไม่ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ตน แต่ควรให้โอกาสฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้นและเคารพในสิทธิของพนักงาน สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดคุณค่ามากมายทั้งในด้านผู้บริหาร พนักงาน องค์กร และสังคมโดยรวม
ดาวน์โหลด |