บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของสารนิพนธ์นี้ เพื่อศึกษาความหมายและพัฒนาการของสุญญตา (ความว่าง)ในพุทธศาสนายุคต้น นิกายสารวาสติวาท และนิกายมาธยามิกะ
ผลการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า คำสอนเรื่องสุญญตามีปรากฏในพุทธศาสนายุคต้น ความหมายของสุญญตาพบได้ในจุฬสุญญตาสูตร และ มหาสุญญตาสูตรในมัชฌิมนิกายในสามบริบท คือ สุญญตวิหาร (การเป็นอยู่ด้วยความว่าง) อนัตตา (ว่างจากตัวตน) และ ความรู้ตัวปล่อยวางบริบททั้งสามนี้ นำไปสู่ความไม่มีตัวตนและความว่างจากตัวตน หรือปุคคลสุญญตา พูดอีกนัยหนึ่ง ปุคคลสุญญตาตรงกับคำสอนเรื่องอนัตตา หรือความไม่มีตัวตน ในพุทธศาสนายุคต้น นิกายสารวาสติวาทเป็นสำนักที่มีหลักการคำสอนเรื่อง “ทุกสิ่งทุกอย่างดำรงอยู่”เพื่อว่าจะสามารถอธิบายและเข้าใจถึงหลักคำสอนเรื่องกรรมและการเกิดใหม่ได้กระจ่างขึ้น หลักคำสอนนี้ไม่ได้ยอมรับเพียงแต่การดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆในช่วง ๓ กาลเวลา คือ อดีต ปัจจุบันและอนาคต แต่ยังเน้นย้ำคำสอนเรื่องความไม่มีตัวตนหรืออาตมัน โดยปฏิเสธความมีตัวตนของบุคคล นั่นก็หมายถึงปุคคลสุญญตา นิกายมาธยะมิกะ ความตั้งใจของสำนักนี้ ดูเหมือนว่าจะต้องการปฏิเสธแนวความคิดของนิกายสารวาสติวาทในเรื่อง เรื่อง “ทุกสิ่งทุกอย่างดำรงอยู่” สำนักมาธยะมิกะไม่เพียงแต่จะสอนความไม่มีตัวตนของบุคคล (ปุคคลสุญญตา) แต่ยังสอนความไม่มีสาระแก่นสารและความว่างของสภาวธรรมทั้งหลาย (สภาวะธรรมสุญญตา)ด้วยการปฏิเสธแนวความคิดที่เป็นไปได้ทุกอย่าง บนหลักการในการปฏิเสธ ๘ ประการ แต่การปฏิเสธน่าจะมีมากกว่านั้นอย่างไม่มีข้อจำกัด สุญญตา (ความว่างในนิกายมาธยะมิกะได้พัฒนามาจากหลักปฏิจจสมุปบาทในพุทธศาสนายุคต้น ด้วยการตระหนักรู้ถึงความจริง ๒ ประการ กล่าวคือความจริงโดยสมมติ และความจริงแท้โดยปรมัต, ดังนั้น สุญญตา (ความว่าง) จึงกล่าวได้ว่าเป็นทางสายกลาง
ดาวน์โหลด |