บทคัดย่อ
ในสารนิพนธ์ฉบับนี้ผู้วิจัยมุ่งที่จะศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องพญานาคในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทโดยผู้วิจัยกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ ๒ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาถึงแนวคิดเรื่องพญานาคในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องพญานาคในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท
ผลการวิจัยพบว่า
พญานาคเป็นสัตว์โลกประเภทหนึ่งที่มีกำเนิดมาจากการกระทำกรรม ๒ ประการคือ (๑) กุศลกรรมและ(๒)อกุศลกรรม เช่น การรักษาอุโบสถศีลแล้วปรารถนาความเป็นนาค หรือการละเมิดพระวินัย เป็นต้นโดยถือกำเนิด ใน ๔ ประเภทคือ อัณฑชะ(เกิดในฟองไข่) ชลาพุชะ(เกิดในครรภ์) สังเสทชะ(เกิดในเถ้าไคล) และโอปปาติกะ(ผุดเกิด) เมื่อถือกำเนิดมาแล้วย่อมอยู่ใต้การปกครองของพญานาคผู้ใหญ่ชื่อว่าท้าววิรูปักษ์ ซึ่งเป็นผู้นำของนาคและเป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ พญานาคเกิดมาแล้วจะมีภพของนาคชื่อว่าโภควดี,วาสนครหรือหิรัญญวดีเกิดขึ้นมารองรับ โดยวิมานดังกล่าวจะอยู่ในหลายสถานที่ เช่น แม่น้ำ ภูเขา มหาสมุทร และใต้แม่น้ำ เป็นต้น
พญานาคในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทมีพัฒนาการมาจากอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุภายใต้ความเชื่อแบบสมณธรรม คือเชื่อว่าพญานาคเป็นสัตว์โลกที่เป็นไปตามกรรมหรืออยู่ภายใต้กฏแห่งกรรมไม่ได้เกิดมาจากการสร้างของเทพเจ้า การเกิดของพญานาคจัดเป็นอบายแต่ไม่เป็นทุคติเนื่องจากพญานาคเกิดในภพภูมิที่มีแต่ความสุข และมีข้อพิสูจน์ว่าพญานาคเป็นสัตว์โลกที่มีอยู่จริงอยู่หลายประการ เช่น พิสูจน์จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และหลักตรรกวิทยาเชิงพุทธ พญานาคมีความหมายเชิงสัญลักษณ์คือ หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ,อำนาจและความดี เป็นต้น หรือในด้านบทบาทพบว่าพญานาคมีบทบาทสำคัญในการปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาและในขณะเดียวกัน
พญานาคเองก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุภพภูมิที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ด้วย นอกจากนั้นการศึกษาเรื่องพญานาคยังให้คุณค่าหลายประการมีด้านการทำกิจด้วยความไม่ประมาท และด้านการปฏิบัติธรรม เป็นต้น สำหรับมนุษย์พระพุทธศาสนาสอนให้มีท่าทีต่อพญานาคทั้งในด้านของการยอมรับความมีอยู่ของพญานาคและการปฏิบัติต่อพญานาคโดยไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน.
ดาวน์โหลด |