หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาวอรทัย มีแสง
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๖ ครั้ง
พัฒนาการอหิงสธรรมในพระพุทธศาสนา: กรณีศึกษาพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวอรทัย มีแสง ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๑๐/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร, ดร., ป.ธ. ๗, พธ. บ. (ภาษาอังกฤษ),ศศ.ม. (พุทธศาสนศึกษา), พธ.ด.(พระพุทธศาสนา)
  .
  .
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๓
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

               การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ ได้แก่ เพื่อศึกษาพัฒนาการอหิงสธรรมในพระพุทธศาสนา และเพื่อศึกษาพัฒนาการและการประยุกต์ใช้อหิงสธรรมขององค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสันติภาพ (Buddhist Peace Fellowship) แห่งสหรัฐอเมริกา

   ผลการวิจัยพบว่า แนวคิดเรื่องอหิงสามีปรากฏตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาล และเป็นหลักธรรมคำสอนที่ปรากฏทั่วไปในศาสนาต่างๆ ที่เกิดในประเทศอินเดีย พบทั้งในพุทธศาสนา ฮินดู และเชน อหิงสาหรืออหิงสธรรมเป็นคำเดียวกันหรือมีความหมายอย่างเดียวกัน โดยที่อหิงสาจะเป็นคำทั่วไปหรือเป็นสากล ในขณะที่อหิงสธรรมต้องการเน้นว่ามาจากคำสอนทางศาสนา

               คำสอนเรื่องอหิงสา หรืออหิงสธรรม ได้ปรากฏหลักฐานตั้งแต่ในสมัยพระเวทแต่ได้กล่าวไว้อย่างกว้างๆ ว่าไม่ควรเบียดเบียนกัน เพราะทุกสรรพสิ่งหรือธรรมชาติล้วนเกิดจากพระเจ้า จึงควรเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ทำร้ายกัน แต่หลักธรรมคำสอนของพราหมณ์ในยุคต่อมาก็ได้เบี่ยงเบนไปโดยเฉพาะเรื่องการพรากชีวิตผู้อื่น การบูชายัญซึ่งผิดจากหลักคำสอนในยุคพระเวท จึงมีการปฏิรูปคำสอนเสียใหม่โดยเฉพาะการถูกกดดันจากคำสอนของพุทธศาสนา อหิงสธรรมจึงได้กลับมาปรากฏเป็นคำสอนในศาสนาฮินดูต่อมา และถือเป็นหลักธรรมที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกิดการหลุดพ้นหรือกลับไปอยู่กับองค์พรหมมันอีกครั้ง นอกจากนี้ในก่อนพุทธกาลอหิงสาก็เป็นคำสอนหลักในศาสนาเชน และเป็นหลักธรรมที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดหรือขั้นอุกฤษฏ์

   สำหรับคำสอนในยุคพุทธกาลจะเน้นคำอธิบายในเรื่องของการไม่เบียดเบียนทางกาย  วาจา และใจซึ่งเกิดจากมโนกรรมเป็นเบื้องต้น และจะแสดงออกมาด้วยความกรุณา ความไม่เบียดเบียนปรากฏอยู่ในสัมมาสังกัปปะหรือในมรรคมีองค์แปด ในปัจจุบันอหิงสธรรมถูกนำมาปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น อหิงสธรรมยังประกอบไปด้วยการมีสติหรือการตระหนักรู้ การมีปัญญาหรือมีสัมมาทิฏฐิ และการลงมือกระทำด้วยความเพียรหรือสัมมาวายามะ และพบว่าอหิงสธรรมเป็นองค์ธรรมองค์หนึ่งในการพัฒนาตนเองตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญาการมีปัญญาคือการไม่ใช้ความคิดความรู้ในการเบียนเบียน การมีศีลคือการมีพฤติกรรมตามหลักจริยธรรมที่ไม่เบียดเบียนกัน และการมีสมาธิคือการมีจิตที่สงบและตั้งมั่น

อหิงสธรรมมีพัฒนาการความเข้าใจและการใช้ไปตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงและสลับซับซ้อน นอกจากจะครอบคลุมถึงการไม่เบียดเบียนกันเชิงปัจเจกแล้ว อหิงสธรรมยังครอบคลุมถึงการไม่เบียดเบียนกันในเชิงโครงสร้าง เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ความยุติธรรมด้านกฎหมายหรือการเสียภาษี เป็นต้น  และด้วยความเป็นประชาธิปไตยในลักษณะของคำสอนและวิธีการของความเป็นพุทธ ทำให้เกิดความสมดุลในระดับโครงสร้าง เกิดความเสมอภาคและภราดรภาพ และเป็นหลักทำให้เกิดสันติภาพ

อหิงสธรรมเป็นกระบวนการไม่ใช่หลักการ คือ ต้องลงมือปฏิบัติด้วยวิธีการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เช่น ความรักความเมตตา การมีศีล การไม่ฆ่า ไม่ทำลายชีวิต การมีปัญญาเห็น    สัจธรรมตามกฎไตรลักษณ์ เห็นปฏิจจสมุปบาท และการใช้สติในการพิจารณาเรื่องราวที่เกิดขึ้น และพบว่าเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรง ความไม่รุนแรงหรือความไม่เบียดเบียนจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยสติและปัญญา

    คำว่าอหิงสาบางครั้งมีผู้แปลว่าเป็นภาษาอังกฤษว่า Nonviolence ความไม่รุนแรง จึงทำให้เกิดมีการใช้คำว่า อหิงสา หรือ Ahimsa ว่ามีความหมายเดียวกับคำว่า Nonviolence แต่ในความเป็นจริงนั้น อหิงสาซึ่งเป็นคำมาจากศาสนานั้นมีรายละเอียดครอบคลุมมากกว่าคำว่าความไม่รุนแรง คำว่า ความไม่รุนแรง จะเน้นเฉพาะสิ่งที่ทางกายภาพคือไม่ทำลายสิ่งของ ไม่ฆ่ากัน หรือไม่ใช้กำลังหรืออาวุธห่ำหั่นกัน ในขณะที่คำว่า อหิงสา การไม่เบียดเบียน ครอบคลุมทั้งด้านกาย ด้านวาจาและด้านใจ ซึ่งต้องมาจากเจตนาที่ดีและมีความจริงหรือความสัตย์หรือความเห็นที่ถูกต้องด้วย อหิงสาจึงมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่าคำว่า Nonviolence หรือความไม่รุนแรง

   พัฒนาการแนวคิดเรื่องอหิงสธรรมของทะไลลามะที่ ๑๔ ผู้นำจิตวิญญาณชาวทิเบต และของติช นัน ฮันห์ ผู้นำจิตวิญญาณ อาจารย์เซนชาวเวียดนาม เป็นผู้นำอหิงธรรมมาเผยแผ่และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและเห็นเป็นรูปธรรม โดยได้เทศนาสอนเรื่องอหิงสาผ่านทั้งเรื่องการเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังพบว่าทั้งทะไลลามะและติช นัน ฮันห์ ยังใช้อหิงสธรรมตามแนวคิดของพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมด้วย

               พุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสันติภาพ (Buddhist Peace Fellowship, BPF) ถือกำเนิดในประเทศสหรัฐอเมริกาในยุคที่การตื่นตัวทางด้านการเมืองและสังคมสูงมากเนื่องจากเป็นช่วงหลังสงครามโลกและสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง ด้วยความบอบช้ำทางจิตวิญญาณ การต้องการเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาสังคม และการแสดงออกให้เห็นว่า การใช้ความรุนแรงเพื่อยุติปัญหาไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง พุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสันติภาพจึงได้ก่อตั้งขึ้นมา พุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสันติภาพเป็นองค์กรขบวนการพุทธศาสนาเพื่อสังคมที่มีชื่อเสียงโดดเด่นที่สุดและมีอายุยาวนานที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา จากการศึกษาพบว่าแนวคิดการประยุกต์ใช้อหิงสธรรมของพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสันติภาพมีอยู่ในหลายโครงการ และโครงการสำคัญทำให้เห็นว่าอหิงสธรรมนอกจากจะเป็นพัฒนาตนเองตามหลักไตรสิกขาแล้วยังเป็นการบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๓ ทาน ศีล ภาวนา อีกด้วย

               แนวคิดและหลักธรรมที่พุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสันติภาพนำมาเป็นอุดมการณ์ในการก่อตั้งและการนำไปใช้ในโครงการต่างๆ เกิดจากการตีความจากคำสอนของพุทธศาสนามหายานโดยเฉพาะเซน หล่อหลอมเข้ากับวิถีชีวิตดั้งเดิมของความเป็นชาวอเมริกันที่มีอิทธิพลจากความเชื่อความรู้แบบคริสต์เรื่องการรับใช้สังคม และวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยคือ ความเสมอภาคและภราดรภาพ เกิดเป็นขบวนการพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมผ่านโครงการต่างๆทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อประโยชน์ ความสุข ความสงบ ความยุติธรรม สันติภาพและภราดรภาพแห่งมวลมนุษย์ชาติ

 ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕