หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระชาญชัย ชยเมธี (คำวิชัย)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๓ ครั้ง
บทบาทของสัปเหร่อที่มีต่อพิธีงานศพกรณีศึกษาในเขตเทศบาลตำบลหลวงใต้ อำเภองาว จังหวัดลำปาง
ชื่อผู้วิจัย : พระชาญชัย ชยเมธี (คำวิชัย) ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๑๐/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูศรีรัตนากร ป.ธ. ๖, พธ.บ. (English), B.A. (Pali& Buddhism), M.A. (Philosophy),M.A. (English), Ph.D. (Pali& Buddhism)
  ผศ. ดร. วันชัย พลเมืองดี พธ.บ. (ศาสนา), M.A. (Buddhist Studies), Ph.D. (Buddhist Studies)
  ดร.ใจ บุญชัยมิ่ง ป.ธ.๔,พธ.บ., M.A., Ph.D.
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ 

 

                   การวิจัยเรื่อง “บทบาทของสัปเหร่อที่มีต่อพิธีงานศพ : กรณีศึกษาในเขตเทศบาลตำบลหลวงใต้  อำเภองาว  จังหวัดลำปาง”  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อ  และบทบาทของสัปเหร่อที่มีต่อพิธีงานศพ  และการวิเคราะห์บทบาทของสัปเหร่อที่มีต่อพิธีงานศพในทัศนะของประชาชนในชุมชน  เป็นการวิจัยแบบผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณ  และเชิงคุณภาพ  โดยการใช้แบบสัมภาษณ์กับสัปเหร่อที่ประจำอยู่   ฌาปนสถานชุมชน  จำนวน ๕ คนและแบบสอบถามความคิดเห็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตตำบลหลวงใต้  อำเภองาว  จังหวัดลำปาง  กลุ่มตัวอย่างจำนวน  ๓๓๔  คน  สถิตที่ใช้  ได้แก่  การแจกแจงความถี่  ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย  และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

                   ผลการศึกษา พบว่าสัปเหร่อ ได้ถูกกำหนดบทบาทหน้าที่ให้เป็นผู้จัดการศพประจำ ฌาปนสถานชุมชน ได้รับการยอมรับตามมติของชุมชน ทั้งนี้เป็นการสืบทอดบทบาทหน้าที่จากรุ่นสู่รุ่นในตระกูลสัปเหร่อและการเรียนรู้จากครูอาจารย์ให้มีบทบาทหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับประเพณีการตายของชุมชนที่สามารถสืบสานระเบียบพิธี ขั้นตอน กรรมวิธีการจัดการศพ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติ คติความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์ที่เป็นอัตลักษณ์ของสัปเหร่อ และความเชื่อพื้นฐานเกี่ยวกับประเพณีการตายของชาวล้านนาที่มีการกล่าวขานสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน อันมีความสัมพันธ์ต่อความรู้สึก ทัศนคติ และวิถีประชา

                   สัปเหร่อมีบทบาทสำคัญต่อการจัดการพิธีศพให้เรียบร้อย และถูกต้องเป็นไปตามประเพณีนิยมของท้องถิ่น เป็นผู้รู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะบุคคล เป็นที่ปรากฏแก่สายตาของประชาชนทำให้เป็นที่ยอมรับในศักยภาพและบทบาทหน้าที่ของสัปเหร่อในภาพลักษณ์ของผู้ที่มีความสำคัญต่อการจัดการพิธีศพให้เป็นไปตามความคาดหวังของคนในชุมชน ทั้งนี้ อัตลักษณ์ตัวตนที่แสดงออกต่อการเคร่งครัดในระเบียบข้อห้าม ข้อควรปฏิบัติ และการใช้คาถาอาคมในการประกอบพิธีกรรมบ่งบอกถึงการเป็นผู้มีความรู้เฉพาะบุคคล จึงเป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนความเชื่อมั่น ความศรัทธา และทัศนะคติที่ดีต่อบทบาทของสัปเหร่อในการจัดการพิธีงานศพของชุมชน บทบาทของสัปเหร่อที่สำคัญตั้งแต่การให้คำแนะนำและปฏิบัติเกี่ยวกับการอาบน้ำศพ การแต่งตัวศพ การมัดตราสัง การตั้งศพ การรักษาความเชื่อบางประการเกี่ยวกับการนำศพออกจากบ้าน การเผาศพหรือการปลงศพ ความเชื่อเกี่ยวกับการทิ้งเบี้ยให้ตากลียายกลา การนำน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ การแปรรูป และการเก็บอัฐิ 

                   การพัฒนาภาพลักษณ์บทบาทของสัปเหร่อให้เป็นที่ประจักษ์ ซึ่งต้องแสดงแบบอย่างแห่งความประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม การมีเครื่องแต่งกายที่สื่อให้เห็นถึงอัตลักษณ์ตัวตนของสัปเหร่อ การพัฒนาองค์ความรู้อย่างลึกซึ้ง และระดับความชำนาญในการจัดการพิธีศพอย่างมืออาชีพ และการเป็นผู้ให้การศึกษาเกี่ยวกับคติธรรม คำสอน ปริศนาธรรมเนื่องในงานศพ และสอดประสานกับความเชื่อท้องถิ่นตามประเพณีที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและการดำรงชีพด้วยความไม่ประมาท ตลอดจนการยึดถือปฏิบัติตามระเบียบพิธี รูปแบบ และขั้นตอนพิธีการจัดการศพที่เป็นประเพณีนิยมของท้องถิ่นที่สืบทอดมาอย่างเคร่งครัดนำไปสู่การสร้างศรัทธา และความเชื่อมั่นต่อการธำรงรักษาบทบาทหน้าที่ของสัปเหร่อที่มีส่วนสำคัญต่อการดำรงอยู่ทางวัฒนธรรมท้องถิ่น

 ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕