บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาประวัติการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของ
พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ๒) เพื่อศึกษาบทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของ
พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ๓) เพื่อศึกษาผลกระทบของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ต่อสังคมไทย โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการศึกษาข้อมูล เอกสาร และการสัมภาษณ์ประกอบตามขอบเขตของการวิจัยที่กำหนดไว้ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาจะเป็นประโยชน์ในวิชาการและคณะสงฆ์ไทย
ผลการวิจัยพบว่า
๑) ประวัติการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)
จำแนกเป็น ๓ ระยะ คือ ๑) การเผยแผ่พระพุทธศาสนาระยะต้น (ระหว่าง พ.ศ.๒๔๖๙ – ๒๔๘๕) พบว่าพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) มีบทบาทในการเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมที่วัดพระบรมธาตุไชยา และเขียนหนังสือตามรอยพระอรหันต์และออกหนังสือพิมพ์พุทธสาสนารายตรีมาส ปาฐกถา เทศนา ๒) การเผยแผ่พระพุทธศาสนาระยะกลาง (ระหว่าง พ.ศ.๒๔๘๖ – ๒๕๒๙) พบว่าพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการเทศนาและปาฐกถาธรรมตามสถานที่ต่างๆ และมีการเขียนหนังสือความอัศจรรย์บางประการ
ของพระนิพพาน พุทธธรรมกับสันติภาพ พุทธธรรมกับเจตนารมณ์แห่งประชาธิปไตย ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม จิตวิทยาแบบพุทธ ๓) การเผยแผ่พระพุทธศาสนาระยะปลาย (ระหว่าง พ.ศ.๒๕๓๐ – ๒๕๓๖) พบว่าพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ได้เขียนหนังสือเรื่อง ภาษาคน - ภาษาธรรม อานาปานสติฉบับสมบูรณ์ และมาฆบูชาเทศนา
๒) บทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) พบว่า พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ได้มีการปฏิบัติตนเป็นต้นแบบในการปฏิบัติธรรม ด้วยการบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง และสอนให้พุทธบริษัทได้ปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง
และเป็นต้นแบบในการศึกษา มีการศึกษาทางคดีโลกและคดีทางธรรม มีความอุตสาหะอดทนศึกษาค้นคว้าหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาอย่างลุ่มลึกแล้วออกมาเผยแผ่ให้พุทธบริษัทศึกษาเรียนรู้ประพฤติปฏิบัติ และมีการเผยแผ่ด้วยเทคนิควิธีการ, สื่อ, เอกสารและสิ่งพิมพ์ที่หลากหลาย เช่น ทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์, ใช้สื่อศิลปะ, สร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ เป็นต้น
๓) ผลกระทบด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมโกศาจารย์
(พุทธทาสภิกขุ) ต่อสังคมไทย พบว่ามีผลกระทบต่อสังคมไทยหลายด้าน คือ ๑) ผลกระทบด้านการส่งเสริมพระพุทธศาสนา โดยมีผลกระทบด้านศาสนบุคคล ด้านศาสนธรรม ด้านศาสนวัตถุ ด้านศาสนพิธี ๒) ผลกระทบด้านการศึกษาโดยรณรงค์ให้นำหลักคุณธรรม ศีลธรรม หลักจริยธรรมกลับเข้าสู่สถาบันการศึกษาให้ได้เรียนรู้ประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง ๓) ผลกระทบด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การสร้างถาวรวัตถุให้กลมกลืนกับธรรมชาติการอนุรักษ์ต้นไม้และอนุรักษ์สัตว์ป่าทุกชนิดในบริเวณสวนโมกขพลารามและกำหนดให้ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมต้องให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย
ดาวน์โหลด |