หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมนัส กนฺตสีโล (มอพิมพ์)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๔ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์แนวคิดอิสรภาพแห่งจิตในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระมนัส กนฺตสีโล (มอพิมพ์) ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๑๐/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชวชิรเมธี, ดร.ป.ธ.๙, พธ.บ., ศษ.บ., อ.ม., กศ.ด.
  พระมหาวรัญญู วรญฺญู, ดร. ป.ธ.๗, พธ.บ., M.A., Ph.D.
  ผศ. อานนท์ เมธีวรฉัตร ป.ธ. ๖, ศษ.บ., พธ.บ., กศ.ม.
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่องการศึกษาวิเคราะห์แนวคิดอิสรภาพแห่งจิตในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑. ศึกษาอิสรภาพในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท         ๒. ศึกษาอิสรภาพแห่งจิตในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ๓. วิเคราะห์แนวคิดอิสรภาพแห่งจิตของนักปราชญ์ในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท

งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยผู้วิจัยได้ศึกษาค้นคว้ารวบรวมข้อมูลจากคัมภีร์ในพระไตรปิฎก อรรถกถา คัมภีร์วิสุทธิมรรค คัมภีร์วิมุตติมรรคและเอกสารที่เกี่ยว แล้วจึงทำการวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการวิจัย

ผลการวิจัยพบว่า

๑). คำว่า อิสรภาพ ในภาษาไทย หมายถึง ความเป็นใหญ่ ความเป็นไทแก่ตัวเอง ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า อิสฺสริย ในภาษาบาลี หมายถึงความเป็นใหญ่และความเป็นอิสระ ดังคำอุทานของพระพุทธเจ้าว่า สพฺพํ อิสฺสริยํ สุขํ ความเป็นอิสระทั้งปวง ก่อให้เกิดสุข พระอรรถกถาจารย์อธิบายเป็น ๒ นัย คือ ความเป็นพระราชาและความเป็นอิสระที่เกิดจากฌานอภิญญาหรือความเป็นอิสระที่เกิดจากนิโรธซึ่งมีเหตุมาจากการบรรลุมรรคผลนิพพาน นักปราชญ์ในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ใช้คำว่า อิสรภาพในทางสภาวธรรม หมายถึงวิมุตติหรือความหลุดพ้นเป็นอิสระมีอยู่ ๕ ประเภท คือ ๑. วิกขัมภนวิมุตติ ๒.ตทังควิมุตติ ๓. สมุจเฉทวิมุตติ ๔. ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ ๕. นิสสรณวิมุตติ สภาวลักษณะของอิสรภาพมี ๓ ประการ คือ ๑. สภาวลักษณะที่หลุดพ้นเป็นอิสระจากกิเลสด้วยจิต เรียกว่า เจโตวิมุตติ ๒. สภาวลักษณะที่หลุดพ้นเป็นอิสระจากกิเลสด้วยปัญญา เรียกว่า ปัญญาวิมุตติ๓. สภาวลักษณะที่หลุดพ้นเป็นอิสระจากกิเลสด้วยจิตและปัญญา เรียกว่าอุภโตภาควิมุตติ

๒). อิสรภาพแห่งจิต ได้แก่ จิตที่หลุดพ้นเป็นอิสระจากกิเลสอันเกิดมาจากการฝึกอบรมความประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ประกอบอาชีวะเลี้ยงชีวิตโดยชอบธรรม และลดละเครื่องอุปโภคบริโภค ไม่ตกเป็นทาสของบริโภคนิยม จัดเป็นอิสรภาพทางกายและอิสรภาพทางสังคม การฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง มั่นคงแน่วแน่ ควบคุมตนเองได้ดี มีสมาธิ มีกำลังใจสูง มีจิตที่สงบผ่องใส เป็นสุข เป็นอิสระ บริสุทธิ์ปราศจากสิ่งที่มารบกวนให้เศร้าหมอง ปรับปรุงจิตให้มีคุณภาพและสมรรถภาพสูงขึ้นถึงขั้นที่ว่าจิตมีเอกภาพ จัดเป็นอิสรภาพทางจิต ความเป็นอิสระหมดจดแห่งทิฏฐิ ที่เกิดจากการฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงจนถึงความหลุดพ้นมีจิตใจเป็นอิสระเสรีและมีความสงบพบกับสันติภาพอย่างแท้จริง จัดเป็นอิสรภาพทางปัญญา

๓). แนวคิดอิสรภาพแห่งจิตของนักปราชญ์ในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทนั้น ได้มีการใช้ภาษาไทยที่แตกต่างกันไปตามศัพท์บัญญัติทางภาษาศาสตร์ พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ใช้คำว่า จิตที่ว่างเป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ใช้คำว่า จิตที่หลุดพ้นเป็นอิสระจากกิเลส พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) ใช้คำว่า จิตที่ปล่อยวางความยึดถือในจิต จิตก็เป็นอิสระ พระโพธิญาณเถระ (หลวงพ่อชา สุภทฺโท) ใช้คำว่า ใจที่ว่างและอิสระจากกิเลสความชั่วทั้งหลาย พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสัมปันโน) ใช้คำว่า จิตที่บริสุทธิ์เป็นอิสระจากกิเลส แต่ในทางปรมัตถ์หรือในทางสภาวธรรมแล้ว อิสรภาพแห่งจิตมีความหมายที่แท้จริงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือสภาวธรรมของจิตที่หลุดพ้นเป็นอิสระจากกิเลส

 ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕