บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) เพื่อศึกษาบทบาทและสิทธิของอุบาสิกาคนสำคัญในฐานะสตรีสมัยพุทธกาล (๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมสำหรับอุบาสิกาคนสำคัญในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๓) เพื่อประยุกต์หลักธรรมสำหรับอุบาสิกาคนสำคัญมาใช้ในสังคมไทย การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเอกสาร โดยศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา หนังสือเอกสารและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ผลการวิจัยพบว่า
๑.บทบาทและสิทธิของอุบาสิกาคนสำคัญในฐานะสตรีสมัยพุทธกาลที่ปรากฏในคัมภีร์เถรวาทเฉพาะที่เป็นเอตทัคคะจำนวน ๑๐ คนนั้น ทุกคนมีบทบาทและสิทธิ รวมทั้งชาติกำเนิดที่แตกต่างกัน อุบาสิกาบางคนเกิดในตระกูลกษัตริย์ บางคนเกิดในตระกูลพราหมณ์และตระกูลอื่น ๆ ตามลำดับ ทุกคนมีศรัทธาในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทแตกต่างกันบางคนนับถือศาสนาอื่นมาก่อนแล้วจึงเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาภายหลัง แต่ที่เหมือนกันคือทุกคนมีบุรพจรรยาในอดีตชาติเมื่อมาฟังธรรมจากพระพุทธองค์หรือสาวก จึงบรรลุธรรมได้อย่างง่ายดาย
๒. หลักธรรมที่อุบาสิกาคนสำคัญแต่ละคนได้รับฟังนั้นมาจากต่างที่ ต่างกรรม ต่างวาระ และต่างบุคคลที่แสดงธรรมบางคนได้รับฟังจากพระพุทธเจ้าโดยตรง บางคนได้รับฟังจากพุทธสาวก บางคนได้รับฟังจากพุทธสาวิกา บางคนรับฟังเพียงครั้งเดียวก็สามารถบรรลุธรรม บางคนรับฟังซ้ำจึงบรรลุธรรม บางคนรับฟังซ้ำ แล้วซ้ำอีกจึงบรรลุธรรม ทั้งนี้เป็นไปตามอัตภาพของแต่ละบุคคล อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับความมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอีกด้วย
๓. การประยุกต์หลักธรรมที่อุบาสิกาคนสำคัญได้ฟัง มาใช้ในชีวิตประจำวัน นั้นแบ่งได้เป็น ๓ ระดับ คือ ระดับครอบครัว ระดับชุมชน และระดับสังคม ระดับครอบครัวเปรียบเสมือนระดับสามัญหรือระดับต้น ระดับนี้หลักธรรมที่ได้รับฟังจะเป็นธรรมที่แสดงเพื่อสร้างพื้นฐานก่อนที่จะได้ฟังธรรมในระดับสูงต่อไป ระดับชุมชนเป็นธรรมชั้นสูงกว่าระดับครอบครัว เน้นการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ส่วนระดับสังคมธรรมที่แสดงเน้นการสร้างความรัก ความสามัคคี ความสงบสุขที่จะเกิดขึ้นในสังคม
โดยสรุปการบรรลุธรรมของอุบาสิกาในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่เป็นเอตทัคคะ ส่วนใหญ่ได้รับฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ในหัวข้อ อนุบุพพิกถา ว่าด้วยความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อได้รับฟังอนุบุพพิกถาเพื่อปรับความพร้อมที่จะรับฟังธรรมที่สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่งแล้วพระพุทธองค์จะแสดงธรรมอริยสัจ ๔ ต่อไป
ดาวน์โหลด |