บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับกายสุจริตในพระพุทธ-ศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาลักษณะกายสุจริตในสังคมไทย และ (๓) เพื่อนำเสนอแนวทางการประยุกต์ใช้หลักกายสุจริตในสังคมไทย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เน้นการศึกษาเอกสารเป็นหลัก
โดยสำรวจข้อมูลชั้นปฐมภูมิจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ข้อมูลชั้นทุติยภูมิ จากตำราวิชาการ เอกสารวิชาการ และรายงานการวิจัยและวิทยานิพนธ์ และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับกายสุจริตในพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า กายสุจริต หมายถึง ความประพฤติชอบทางกาย ๓ ประการ ได้แก่ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ และเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ตามทัศนะพระพุทธศาสนาเถรวาทถือว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมด้วยศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้ และสามารถจะเปลี่ยนแปลงตนเองจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยชนได้ ถ้าได้รับการศึกษาและพัฒนาตนเองอย่างถูกต้อง ดังนั้น การพัฒนาชีวิตมนุษย์
ในพระพุทธศาสนาเถรวาทจึงต้องประกอบไปด้วยการฝึกฝนอบรมตน ตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญาอย่างสอดคล้องกัน
ศึกษาลักษณะกายสุจริตในสังคมไทย พบว่า คนไทยส่วนใหญ่มีความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม และสังสารวัฏ จึงนิยมทำบุญและประกอบการกุศล เพื่อหวังจะได้รับประโยชน์สุขในปัจจุบัน โดยมีหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเถรวาทเป็นตัวชี้นำ กระตุ้นเตือนในการดำเนินชีวิต สำหรับรูปแบบและการพัฒนากายสุจริตในสังคมไทยตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาทมี ๒ ลักษณะ คือ ลักษณะที่ ๑ ใช้ในการพัฒนามนุษย์ด้วยหลักกายภาวนา ศีลภาวนา จิตภาวนา และปัญญาภาวนา
ซึ่งเป็นการพัฒนาที่มีความเกี่ยวเนื่องกันหรือสัมพันธ์กันไม่มีการแยกพัฒนา และลักษณะที่ ๒ คือ หลักการพัฒนาสิ่งแวดล้อมรอบตัวมนุษย์ที่มีความสัมพันธ์กันในฐานะเกื้อกูลเป็นมิตรกัน โดยใช้เกณฑ์ตัดสินพฤติกรรมที่ดี (ความดี) และพฤติกรรมที่ไม่ดี (ความชั่ว) ของชีวิตมนุษย์ในสังคมไทย ตามหลักเกณฑ์ตัดสิน ๒ ประการ ได้แก่ เกณฑ์ตัดสินหลัก ตัดสินด้วยความเป็นกุศลหรืออกุศลโดยพิจารณามูลเหตุที่เกิดว่าดีและไม่ดี แต่เกณฑ์ตัดสินรอง ตัดสินพิจารณาที่มีผลสะท้อนกลับต่อตนเองและผู้อื่นเป็นที่ยอมรับหรือไม่ และผลของการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร
แนวทางการประยุกต์ใช้หลักกายสุจริตในสังคมไทยปัจจุบัน การประยุกต์หลักกายสุจริตในสังคมไทยปัจจุบัน สามารถควบคุมพฤติกรรมและพัฒนาทางร่างกาย และจิตใจของตนเองได้สุจริต จึงทำให้สังคมมนุษย์อยู่อย่างสงบสุข ภายใต้กฎระเบียบวินัย และกฎเกณฑ์ของสังคม นอกจากนี้
ยังพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นอริยบุคคล ๔ จำพวก คือ โสดาบันบุคคล สกทาคามีบุคคล อนาคามีบุคคล และพระอรหันต์ ได้ในที่สุด
ดาวน์โหลด |