บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่อง “ศึกษาความเชื่อเรื่องนรกและสวรรค์ของชาวตำบลสีแก้วอำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด” มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาเรื่องนรกและสวรรค์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาวิถีชีวิตและการปฏิบัติตนตามหลักพระพุทธศาสนาของชาวบ้านตำบลสีแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด และเพื่อศึกษาอิทธิพลของความเชื่อเรื่องนรกและสวรรค์ที่มีต่อชาวบ้านตำบลสีแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด
ผลการศึกษาพบว่า นรก คือสถานที่ลงโทษผู้ทำความชั่ว เป็นสถานที่ปราศจากความสุขความเจริญ มีแต่ความทุกข์ทรมาน เป็นภูมิที่ต่ำสุดในบรรดาภูมิทั้งหลาย เป็นส่วนหนึ่งของการเวียนว่าตายเกิด ไม่อาจพิสูจน์ได้ด้วยประสาทสัมผัส มีทั้งหมด ๔๕๗ ขุม กรรมที่ทำให้ไปบังเกิดในนรก เช่น ฆ่าสัตว์ เป็นต้น ส่วนสวรรค์คือสถานที่เสวยสุขของผู้ทำความดี มี ๖ ชั้น (ไม่รวมพรหมโลกตามนัยคัมภีร์วิภังค์) การตั้งชื่อสวรรค์เหล่านี้ตั้งตามชื่อเทวดาผู้ปกครอง และลักษณะหรือสมบัติของสวรรค์ กรรมที่ทำให้ไปบังเกิดในสวรรค์ เช่น การให้ทาน เป็นต้น พระไตรปิฎกไม่ได้ระบุสถานที่ตั้งของนรกและสวรรค์ไว้ชัดเจน แต่คัมภีร์ในยุคหลังซึ่งได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์กล่าวว่า สวรรค์ตั้งอยู่เหนือเขาพระสุเมรุ ส่วนนรกตั้งอยู่ภายใต้, อายุของนรกและสวรรค์มีระยะเวลามากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการกระทำกรรมของผู้ที่ไปบังเกิด
ด้วยชาวพุทธไทยมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดังนั้น จึงนิยมทำบุญ การทำบุญเกิดจากความเชื่อว่ามีอานิสงส์ทำให้ไปบังเกิดในสุคติภูมิ การถือตามคอง ๑๔ ของชาวตำบลสีแก้ว พบว่า มีการถือตามได้น้อยลงเมื่อเทียบกับในอดีต สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงเกิดจากการรับวัฒนธรรมต่างชาติมากเกินไป ทำให้ไม่เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมตนเอง ชาวตำบลสีแก้วนิยมให้ทานและรักษาศีลอยู่เป็นนิจ การทำทานของชาวบ้านคือการตักบาตรพระเวลาเช้าและการไปทำบุญตักบาตรที่วัด การทำบุญอุทิศนี้ชาวตำบลสีแก้วก็ยังคงถือตามได้อย่างเคร่งครัด เพราะมีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดาตน ซึ่งการทำบุญอุทิศนี้เป็นการได้ทำทานกับพระสงฆ์ด้วย
อิทธิพลความเชื่อเรื่องนรกและสวรรค์ที่มีต่อการศึกษาคือ ชาวตำบลสีแก้วได้รับการปลูกฝังเรื่องนรก-สวรรค์จากบรรพบุรุษมาโดยลำดับและมีความเชื่อหยั่งลึกลงในจิตใจแล้ว ส่วนหนึ่งได้รับการอบรมจากพระสงฆ์ ครูอาจารย์และผู้รู้ศาสนา, ด้านจิตใจ พบว่า จิตใจมีความสำคัญในการพูดและกระทำ หากรู้สึกว่าตนเองได้ทำผิดพลาดก็จะเกิดความกังวลใจ กลัวจะได้รับโทษตามคำสอนศาสนา แต่หากได้ทำคุณงามความดีก็จะมีความสบายใจ, ด้านพฤติกรรม พบว่า คนเรามีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน กล่าวคือ บางคนก็ได้สั่งสมบุญบารมีมาดี สามารถที่จะตั้งตนในศีลธรรมได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขบังคับ แต่บางคนต้องอาศัยการฝึกฝนอบรม พฤติกรรมมีความสำคัญเพราะเป็นผู้กระทำกรรม ดังนั้น จึงต้องควบคุมหรือประคับประคองให้ตั้งอยู่ในหลักศีลธรรมตามคำสอนพระพุทธศาสนา, ด้านสังคม พบว่า หากปัจเจกชนมีศีลธรรม สังคมก็จะมีความสงบ การดำรงตนควรถือหลักธรรมาธิปไตยคือถือความถูกต้องเป็นสำคัญ ไม่ใช่ทำดีเพราะต้องการคำสรรเสริญหรือไม่ทำชั่วเพราะกลัวถูกติเตียน, ด้านการปกครอง พบว่า หากกฎหมายเป็นกฎที่ไม่ประกอบด้วยธรรม ก็จะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม กฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามใจหรือตามกิเลสของคน เพราะมนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้น แต่หลักศีลธรรมไม่อาจเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นความจริงแห่งธรรมชาติ หลักศีลธรรมมีความเกื้อกูลต่อการปกครอง คือเมื่อคนกลัวตกนรก ก็จะไม่ทำชั่วหรือทำน้อยลง เมื่อต้องการไปสวรรค์ ก็จะทำดีโดยไม่ต้องมีการบังคับ ซึ่งจะทำให้สังคมเราปกครองง่ายขึ้น
ดาวน์โหลด
|