บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาอภัยทานในพระพุทธศาสนา เพื่อวิเคราะห์อภัยทานในพุทธจริยา และเพื่อสังเคราะห์หลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับอภัยทานมาประยุกต์ใช้กับสังคมไทย ในการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งเน้นวิจัยทางเอกสาร ผลของการศึกษามีดังต่อไปนี้
จากการศึกษาพบว่า อภัยทานในความหมายทางพระพุทธศาสนา มี ๓ ความหมาย คือ (๑) การให้อภัย เป็นการยกโทษ การให้อภัยโทษและการให้ความปลอดภัยที่ปราศจาก
เวรภัย (๒) การรักษาศีล การถือศีล (๓) การเจริญเมตตาและขันติ ลักษณะของอภัยทานมี
๓ ลักษณะ คือ อภัยทานทางกาย ทางวาจา และทางใจ มโนกรรมหรือเจตนาจะเป็นตัวกำหนดการกระทำทางกายและวาจาตามลำดับ โดยมีเจตนาในการรักษาศีล ๕ สาเหตุของการให้อภัยทานมาจากความหวังในด้านต่าง ๆ อยากไปเกิดในสวรรค์ อยากได้สิ่งที่ตนปรารถนาในทรัพย์สมบัติ ลาภ ยศ ชื่อเสียง ความสุข ความหวัง ความสุขสบาย ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า อานิสงส์ หรือคุณประโยชน์ของการให้อภัยทาน คือ เป็นการสร้างมหากุศลสะสมบุญบารมี
มีความสุข มีชื่อเสียง เป็นที่รักของคนอื่น และยุติผลกรรมข้ามภพข้ามชาติ
พุทธกิจ คือพระราชกิจที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำตลอดพระชนม์ชีพ ก่อให้เกิดพุทธจริยาหรือการบำเพ็ญประโยชน์ของพระพุทธเจ้า ๓ ประการ คือ โลกัตถจริยาการบำเพ็ญประโยชน์แก่โลก ญาตัตถจริยาการบำเพ็ญประโยชน์แก่ญาติ พุทธัตถจริยาการบำเพ็ญประโยชน์โดยฐานเป็นพระพุทธเจ้า เสด็จจาริกไปโปรดเวไนยสัตว์ประจำวันและเป็นพุทธประเพณีเพื่อบำเพ็ญโลกัตถจริยา อภัยทานในพุทธจริยาเป็นส่วนหนึ่งของโลกัตถจริยาซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทรงมีพระทัยเป็นกลางสม่ำเสมอในสัตว์ทั้งหลาย ในพระเทวทัต นายขมังธนู ช้างธนบาล โจร องคุลิมาล นางจิญจมาณวิกาและในพระราหุล โดยไม่แยกบุคคลว่ารักใคร่ในพระองค์หรือเป็นศัตรูกับพระองค์
กรณีตัวอย่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกับอภัยทานในพุทธจริยามี ๓ ประเภทใหญ่ คือ
(๑) ทรงประทานอภัยโทษ
(๒) ทรงบำเพ็ญในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสีลวิสุทธิ
(๓) ทรงแผ่พระเมตตาและทรงบำเพ็ญพระขันติ
เมตตา หมายถึงความรัก ความปรารถนาดี มิตรไมตรี ขันติ หมายถึงความอดทน ความอดกลั้น เป็นองค์ธรรมสนับสนุนอภัยทานในลักษณะของเมตตา และขันติในอภัยทานทางกายหรือกายกรรม ทางวาจาหรือวจีกรรม ทางใจหรือมโนกรรม ด้วยจิตที่เป็นกุศลหรือ กุศลกรรมบถ ๑๐ โกธะ หมายถึงความโกรธ และพยาบาท หมายถึงความขัดเคืองแค้นใจ ความคิดร้าย เป็นองค์ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับอภัยทาน ในลักษณะของโกธะในอภัยทานทางกายหรือกายกรรม ทางวาจาหรือวจีกรรม ทางใจหรือมโนกรรม ด้วยจิตที่เป็นอกุศลหรืออกุศลกรรมบถ ๑๐
ดาวน์โหลด |