หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูวิโรจน์คุณากร (จำรัส อติสโย/พลศิลา)
 
เข้าชม : ๑๙๙๕๘ ครั้ง
ศึกษาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตประจำอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
ชื่อผู้วิจัย : พระครูวิโรจน์คุณากร (จำรัส อติสโย/พลศิลา) ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๑๐/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาประมวล ฐานทตฺโต, ดร. ป.ธ. ๖, พธ.บ.(ภาษาไทย),M.A. (Ling), M.A., Ph.D.(Pali & Bud).
  ดร.ประยูร แสงใส, ดร. ป.ธ. ๔, พ.ม., พธ.บ., P.G. Dip. In Journalism., M.A. (Ed), Ph.D. (Ed).
  ผศ.ดร.โสวิทย์ บำรุงภักดิ์ ป.ธ.๗, พธ.บ. (ปรัชญา), M.A. (Bud.),พธ.ด. (พระพุทธศาสนา)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์เล่มนี้นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติและความเป็นมาของพระธรรมทูตแห่งคณะสงฆ์ไทย  รูปแบบและวิธีการเผยแผ่  และผลของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตประจำอำเภอเกษตรวิสัย ในทัศนะของชาวพุทธในเขตอำเภอเกษตรวิสัย  จังหวัดร้อยเอ็ด  ดำเนินการวิจัยโดยกระบวนการเชิงคุณภาพและเก็บข้อมูลภาคสนาม 

ผลการวิจัยพบว่า   การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลนั้น พระพุทธองค์ทรงเป็นพระธรรมทูตด้วยพระองค์เองในฐานะธรรมราชา  ทรงมีรูปแบบและวิธีการเผยแผ่ที่หลากหลาย และทรงประกอบด้วยคุณสมบัติของนักเผยแผ่ผู้ยอดเยี่ยม  โดยการคำนึงถึงประโยชน์สุขอย่างยั่งยืนของผู้ฟังเป็นสำคัญ  ต่อมาจึงทรงมอบให้พระสาวกได้ช่วยกันเผยแผ่พระศาสนาให้กว้างไกล  แม้ในสมัยหลังพุทธกาล   พระธรรมทูตก็ยังคงปฏิบัติตามหลักการเป็นนักเผยแผ่ที่ดีของพระพุทธองค์  ใช้สื่อการสอนและกิจกรรมให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ  สังคมและการเมือง  และได้รับการทะนุบำรุงจากฝ่ายราชอาณาจักรทั้งในรูปของกฎหมายและปัจจัย ๔  จึงเจริญรุ่งเรืองจนถึงปัจจุบัน  ส่วนงานพระธรรมทูตในประเทศไทย  ได้มีการฟื้นฟูและดำเนินการโดยกรมการศาสนา จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ  จึงมอบให้มหาเถรสมาคมรับไว้เป็นงานด้านการเผยแผ่ของคณะสงฆ์  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗   และในอีกสองปีต่อมา มหาเถรสมาคมมีมติให้รับงานนั้นไว้ในรูปแบบของพระธรรมทูตด้วยการจัดตั้งเป็นกองงานพระธรรมทูตขึ้นเป็นกิจกรรมถาวร

งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูต  อำเภอเกษตรวิสัย  จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นงานที่ดำเนินตามกฎ  ระเบียบ และคำสั่งของมหาเถรสมาคม  มีรูปแบบและวิธีการการเผยแผ่ที่หลากหลาย  แต่ละรูปแบบก็มีวิธีการแตกต่างกันออกไป  ตามคตินิยม  ความเชื่อ  สภาพแวดล้อมทางสังคม  เศรษฐกิจและการเมือง   ส่วนเนื้อหาหลักธรรมที่ใช้ในการเผยแผ่นั้นไม่มีรูปแบบที่ตายตัวซึ่งพระธรรมทูตสามารถประยุกต์หลักธรรมมาใช้ในการเผยแผ่ได้ด้วยตนเอง ส่วนเรื่องเทคนิควิธีการเผยแผ่ เป็นความสามารถเฉพาะบุคคล และการหมั่นพัฒนาความสามารถในการเผยแผ่ของตนเอง

ในทัศนะของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยโดยภาพรวมแล้ว  พระธรรมทูตมีการใช้เนื้อหาหลักธรรมหลายหมวด รวมทั้งข้อคิดคำคมในสถานการณ์ปัจจุบันมาใช้ โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมกับเพศ  วัย  อาชีพ  สภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจ  สังคมและการเมือง  มีการใช้หลักธรรมร่วมกับการทำกิจกรรมสร้างสรรค์   สื่อการสอนประกอบในการเผยแผ่ที่นำมาใช้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความรู้  ความชำนาญของพระธรรมทูตแต่ละรูป และขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับผู้ฟัง  ในส่วนของการได้รับประโยชน์และคุณค่านั้นโดยภาพรวม  พบว่า  ผู้ฟังได้รับประโยชน์ทั้งด้านกายภาพ   ด้านจิตภาพ   ด้านเศรษฐกิจ   ด้านสังคมในระดับที่ดีขึ้น

 ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕