บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณมีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาระดับพฤติกรรมจริต ๖ และระดับความเข้าใจชีวิต ของผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ที่ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯเฉลิมพระเกียรติ (ศูนย์๒) ปทุมธานี ๒) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคลและจริต ๖ ต่อความเข้าใจชีวิต ของผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ที่ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯเฉลิมพระเกียรติ (ศูนย์๒) ปทุมธานี ๓) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจริต ๖ กับความเข้าใจชีวิต ของผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ที่ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯเฉลิมพระเกียรติ (ศูนย์๒) ปทุมธานี จำนวน ๒๐๔ คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม (Questionnaire) สถิติที่ใช้ประกอบด้วย การแจกแจงความถี่ (Frequency Distribution) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบความแตกต่างในระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมและการรู้คิดเกี่ยวกับสุขภาวะด้านต่างๆ ด้วยค่าที (t-test) การทดสอบค่าเอฟ (F-test) ตามด้วย One Way ANOVA และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
ระดับจริต ๖ ของผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯเฉลิมพระเกียรติ (ศูนย์ ๒) ปทุมธานี พบว่า มีพุทธิจริตอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือสัทธาจริต ส่วนราคจริต โทสจริต และมีโมหจริต มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับน้อยส่วนวิตกจริตมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับน้อยที่สุด ตามลำดับ
ระดับความเข้าใจชีวิต ของผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯเฉลิมพระเกียรติ (ศูนย์ ๒) ปทุมธานี พบว่า มีความเข้าใจชีวิตด้าน อนิจจังมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ ความเข้าใจชีวิตด้านทุกขัง ส่วนความเข้าใจชีวิตด้านอนัตตา มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด ตามลำดับ
สรุปผลการเปรียบเทียบปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคลและระดับความเข้าใจชีวิต พบว่า ปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคลแตกต่างกันมีลักษณะจริต ๖แตกต่างกัน ส่วนความเข้าใจชีวิตไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุปผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจริต ๖ ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯเฉลิมพระเกียรติ (ศูนย์ ๒) ปทุมธานี กับความเข้าใจชีวิต พบว่า ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯเฉลิมพระเกียรติ (ศูนย์ ๒) ปทุมธานี ที่มีลักษณะเป็นพุทธิจริต และสัทธาจริต มีความสัมพันธ์กับความเข้าใจชีวิต ในเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนที่มีลักษณะเป็นราคจริต โทสจริต โมหจริต และวิตกจริตมีความสัมพันธ์กับความเข้าใจชีวิต ในเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
งานวิจัยทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง จริต ๖ และความเข้าใจชีวิต ซึ่งจะสามารถนำมาพัฒนาจริตให้รับรู้ตามสภาพความเป็นจริงโดยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน อีกทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้พัฒนาในการสอนวิปัสสนากรรมฐานได้
ดาวน์โหลด |