บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ ดังต่อไปนี้ (๑) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่เกี่ยวกับจิตอาสาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎีจิตอาสาและการทำงานจิตอาสาของเยาวชนSOS ของเสถียรธรรมสถาน รุ่นค่าย ๘ สื่อมหัศจรรย์ และ (๓) เพื่อศึกษาการประยุกต์หลักพุทธธรรมในการทำงานจิตอาสาของเยาวชน SOS ของเสถียรธรรมสถาน รุ่นค่าย ๘ สื่อมหัศจรรย์
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย (Descriptive Method) โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงจากเยาวชน SOS รุ่นค่าย ๘ สื่อมหัศจรรย์ที่ทำงานจิตอาสาต่อเนื่องอย่างน้อย ๑ ปีกับค่ายเยาวชน SOS และงานอื่นๆของเสถียรธรรมสถาน จำนวน ๑๐ คน
ผลการวิจัยพบว่าแนวคิดทฤษฎีจิตอาสาทั้งโดยทั่วไปและทางพระพุทธศาสนาเถรวาทมีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันคือเกิดจากความปรารถนาเข้าไปช่วยเหลือโดยไม่ใช่ภาระหน้าที่ และไม่หวังผลตอบแทน ในส่วนการทำงานจิตอาสาของเยาวชน SOS ของเสถียรธรรมสถาน รุ่นค่าย ๘ สื่อมหัศจรรย์นั้นพบว่า เกิดจากการหล่อหลอมพฤติกรรมและจิตใจเยาวชนผ่านกิจกรรมในค่าย การเรียนรู้จากประสบการณ์และการทำงานร่วมกัน รวมถึงการสอดแทรกธรรมะเข้าไปในกิจกรรม ผลคือเยาวชนได้เรียนรู้การทำงานจิตอาสา ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น และได้พัฒนาตน
ในส่วนหลักพุทธธรรมที่เยาวชน SOS รุ่น ค่าย ๘ สื่อมหัศจรรย์ส่วนใหญ่ ประยุกต์ใช้ในการทำงานจิตอาสาคือ (๑) สังคหวัตถุ ๔ ในข้อธรรมเรื่อง ทานและอัตถจริยา (๒) อิทธิบาท ๔ ในข้อธรรมเรื่อง ฉันทะ (๓) พรหมวิหาร ๔ ในข้อธรรมเรื่อง เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา (๔) ฆราวาสธรรม ๔ ในข้อธรรมเรื่อง จาคะ (๕) สาราณียธรรม ๖ ในข้อธรรมเรื่อง เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม สาธารณโภคิตา ในส่วนการประยุกต์หลักพุทธธรรมในการทำงานร่วมกับผู้อื่น พบว่าหลักพุทธธรรมที่เยาวชน SOS รุ่น ๘ สื่อมหัศจรรย์โดยรวม ประยุกต์ใช้คือ (๑) สังคหวัตถุ ๔ ในข้อธรรมเรื่อง ปิยวาจา (๒) พรหมวิหาร ๔ ในข้อธรรมเรื่อง อุเบกขา (๓) ฆราวาสธรรม ๔ ในข้อธรรมเรื่อง สัจจะ (๔) สาราณียธรรม ๖ ในข้อธรรมเรื่อง ทิฏฐิสามัญญตา และสุดท้ายคือการประยุกต์หลักพุทธธรรมในการพัฒนาตน พบว่าหลักพุทธธรรมที่เยาวชน SOS รุ่น ๘ สื่อมหัศจรรย์ส่วนใหญ่ ประยุกต์ใช้คือ (๑) สังคหวัตถุ ๔ ในข้อธรรมเรื่อง สมานัตตตา (๒) อิทธิบาท ๔ ในข้อธรรม วิริยะ จิตตะ วิมังสา (๓) พรหมวิหาร ๔ ในข้อธรรมเรื่อง อุเบกขา (๔) ฆราวาสธรรม ๔ ในข้อธรรมเรื่อง ทมะ ขันติ (๕) สาราณียธรรม ๖ ในข้อธรรมเรื่อง สีลสามัญญตา
ดาวน์โหลด |