หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายภพธร แก้วขัน
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๑ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์การอภัยโทษในสังคมไทยตามหลักพระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : นายภพธร แก้วขัน ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูภาวนาโพธิคุณ, ดร., พธ.บ., M.A., Ph.D.
  ผศ.ดร.โสวิทย์ บำรุงภักดิ์ ป.ธ.๗, พธ.บ.(ปรัชญา), M.A.(Bud),พธ.ด.(พระพุทธศาสนา)
  .
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                 วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์  เพื่อศึกษาแนวคิดและหลักธรรมวินัยการอภัยโทษในพระพุทธศาสนา เพื่อศึกษาแนวคิดและพัฒนาการอภัยโทษในสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  และ เพื่อศึกษาวิเคราะห์การอภัยโทษในสังคมไทยตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาจากพระไตรปิฎก คัมภีร์พระพุทธศาสนาอื่นๆ เอกสารวิชาการทางพระพุทธศาสนา งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และศึกษาจากภาคสนาม ด้วยการสังเกต และสัมภาษณ์ โดยใช้วิธีวิเคราะห์เชิงพรรณนา

                      ผลการวิจัยพบว่า แนวคิดและหลักธรรมวินัยการอภัยโทษในพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย มรรคมีองค์ ๘ เป็นข้อปฏิบัติอันพอดีที่จะนำไปสู่จุดหมายแห่งความหลุดพ้น บุญกิริยาวัตถุ ๓ ทาน ทำให้คนเห็นแก่ตัวน้อยลง เป็นธรรมเบื้องต้นของการทำบุญ ศีล ๕ จัดว่าเป็นมหาทาน เป็นการให้ความปลอดภัย ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สังคหวัตถุ ๔ เป็นธรรมที่ยึดเหนี่ยวและประสานใจหมู่ชนให้เกิดความสามัคคี พรหมวิหาร ๔ เป็นธรรมที่ผู้บริหารต้องประพฤติ ต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ สาราณียธรรม ๖ เป็นธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง  ทศพิธราชธรรมนั้นเป็นธรรมสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน คุณสมบัติของนักปกครองที่จะสามารถปกครองแผ่นดินโดยธรรม จักรวรรดิวัตร ๑๒ วัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ  และราชสังคหวัตถุ ๔ เป็นหลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครอง  การอภัยโทษมีหลักคิดมาจากหลักอภัยทานส่งเสริมให้เกิดคุณค่าในการพัฒนาคุณภาพจิต เป็นการสร้างพื้นที่ให้อารมณ์ที่เป็นกุศลในการเป็นจุดเริ่มใหม่ของมิตรภาพที่ยั่งยืนทั้งผู้ให้และผู้รับอภัยโทษ และเป็นการทำมหาทานสร้างมหากุศลที่ยิ่งใหญ่

                      แนวคิดและพัฒนาการอภัยโทษในสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองประเทศไทยได้ทรงยึดมั่นหลักเมตตาธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นข้อปฏิบัติและบำเพ็ญทศบารมีมาช้านาน เช่น ในสมัยกรุงสุโขทัยมีการอภัยโทษโดยตรงกับราษฎร โดยยึดหลักพรหมวิหารธรรมและทศพิธราชธรรม กรุงศรีอยุธยาเป็นแบบเจ้ากับข้าแต่ยังคงยึดหลักทศพิธราชธรรม กรุงธนบุรีเป็นการใช้พระราชอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดรวมทั้งแบบพ่อปกครองลูก แต่ทรงยึดหลักทศพิธราชธรรมมาใช้ร่วมกัน กรุงรัตนโกสินทร์ใช้การอภัยโทษตามสมัยกรุงธนบุรีจนกระทั่งถึงรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่เริ่มมีการปฏิรูปกฎหมายและการศาล หลังจากปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจการอภัยโทษตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ  การพระราชทานการอภัยโทษในสังคมปัจจุบัน ใช้หลักเกณฑ์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค ๗ มี ๒ แบบ คือ การพระราชอภัยโทษเป็นรายบุคคลและเป็นการทั่วไป ความสำคัญของการอภัยโทษในประเทศไทยปัจจุบันยึดหลัก ๖ ประการ คือ หลักแห่งทาน  หลักแห่งความเมตตาธรรมของผู้ปกครอง หลักแห่งความยุติธรรม หลักแห่งอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา  หลักแห่งการบริหารกิจการราชทัณฑ์  และหลักแห่งความมั่นคงของประเทศ

                      การอภัยโทษในสังคมไทยตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้น โดยรวมแล้วเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์สอดคล้องกันมาตลอด ตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบันคือต้องอิงอาศัยหลักเมตตาธรรม พระพุทธศาสนาค้นพบวิถีทางพัฒนาจิตวิญญาณ ซึ่งล้วนมุ่งลดความมีตัวตนหรือความเห็นแก่ตัว ประกอบด้วย การอยู่ร่วมกันที่ดี (ศีล) การทำจิตให้สงบ (สมาธิ) และรู้แจ้งเห็นจริง (ปัญญา) เป็นผลออกมาที่เรียกว่ากรรมหรือการกระทำนั้น จะมีตัวเจตนาเป็นตัวกำหนดทั้งสิ้น ทั้งในทางพระพุทธศาสนาและในทางกฎหมาย ส่วนอภัยทานกับการอภัยโทษคงมีความสัมพันธ์ที่สำคัญอย่างยิ่ง นำมาป้องกันและจัดการความขัดแย้งของสังคมไทยทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคตได้ อภัยทานเป็นสิ่งที่ทุกคนปฏิบัติได้จริง ซึ่งเป็นการพิสูจน์ (สันทิฏฐิโก) และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล (อกาลิโก) เป็นการใช้สติปัญญา เพื่อพัฒนาชีวิต พัฒนาจิตใจของเราให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ให้ทันเหตุการณ์กับข้อเท็จจริงในยุคโลกาภิวัตน์

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕