บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ (๑) เพื่อศึกษากัลยาณมิตตธรรมในพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความเป็นกัลยาณมิตรของอาจารย์ตามความคิดเห็นของนิสิตมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๓ จำนวน ๒๑๐ รูป/คน โดยใช้แบบสอบถามเก็บรวบรวมข้อมูลกับนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา
ผลการวิจัยพบว่า
๑. กัลยาณมิตตธรรม หรือ กัลยาณมิตร ในพระพุทธศาสนา หมายถึง เพื่อนที่คอยแนะนำ ชักจูง ช่วยเหลือเกื้อกูล ช่วยบอกทางปัญญา และเป็นตัวอย่างที่ดี ความเป็นกัลยาณมิตรมีส่วนเกี่ยวข้องกับสังคมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะผู้รับผิดชอบในสังคม เช่น พ่อแม่ ทำตนเป็นพ่อแม่ที่ดี ครู อาจารย์ ประพฤติตนทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์ที่ดี เป็นต้น ผู้ที่ปรารถนาความเจริญก้าวหน้าในชีวิตส่วนตัวและส่วนรวมจึงควรนำไปประพฤติปฏิบัติตามกัลยาณมิตตธรรม เพื่อนำสังคมไปสู่ความสามัคคีและสงบสุขสืบไป
๒. ความเป็นกัลยาณมิตรของอาจารย์ตามความคิดเห็นของนิสิตมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา โดยภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมากทุกด้าน
๓. ความเป็นกัลยาณมิตรของอาจารย์ตามความคิดเห็นของนิสิตมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา จำแนกสถานภาพ มีความคิดเห็นโดยภาพรวมและรายด้านไม่แตกต่างกัน โดยนิสิตที่เป็นคฤหัสถ์มีค่าเฉลี่ยระดับความคิดเห็นสูงกว่านิสิตที่เป็นบรรพชิต
๔. ความเป็นกัลยาณมิตรของอาจารย์ตามความคิดเห็นของนิสิตมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา จำแนกตามประเภท มีความคิดเห็นโดยภาพรวม ไม่แตกต่างกัน โดยนิสิตที่เรียนภาคพิเศษมีค่าเฉลี่ยระดับความคิดเห็นสูงกว่านิสิตที่เรียนภาคปกติ ๕. ความเป็นกัลยาณมิตรของอาจารย์ตามความคิดเห็นของนิสิตมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา จำแนกตามชั้นปี มีความคิดเห็นโดยภาพรวมและ รายด้านแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ โดยนิสิตชั้นปีที่ ๑ มีค่าเฉลี่ยระดับความคิดเห็นสูงกว่านิสิตชั้นปีที่ ๔ ปี ๒ และปี ๓ ตามลำดับ
๖. ความเป็นกัลยาณมิตรของอาจารย์ตามความคิดเห็นของนิสิตมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา จำแนกตามคณะ มีความคิดเห็นโดยภาพรวม ไม่แตกต่างกัน โดยนิสิตคณะครุศาสตร์มีค่าเฉลี่ยระดับความคิดเห็นสูงกว่านิสิตคณะพุทธศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ตามลำดับ
ดาวน์โหลด |