บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) เพื่อศึกษาพุทธวิธีในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษารูปแบบและวิธีการเผยแผ่พระพุทธ ศาสนาของพระธรรมราชานุวัตร (กมล โกวิโท) และ (๓) เพื่อศึกษาความสอดคล้องระหว่างการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมราชานุวัตร (กมล โกวิโท) กับพุทธวิธีในการสื่อสารและการสื่อสารตามหลักนิเทศศาสตร์ ดำเนินการวิจัยโดยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ด้วยวิธีการศึกษาเชิงเอกสาร (Documentary Research) และเก็บข้อมูลโดยการใช้แบบสัมภาษณ์ (Interviews) โดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interviews) กับกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informants) ประกอบด้วย พระสงฆ์และฆราวาสจำนวน ๑๒ รูป/คน แล้ววิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis Technique)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. พระธรรมราชานุวัตร (กมล โกวิโท) ท่านมีรูปแบบในการนำเสนอพระพุทธศาสนาออกสู่สายตาทั้งพระสงฆ์และประชาชนในลักษณะใหญ่ ๓ ประการ คือ ๑. นำเสนอโดยตรง (ตามความเป็นจริง) ๒. นำเสนอโดยเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบันและ ๓. นำเสนอโดยยกบุคคลตัวอย่างมาประกอบ ซึ่งแสดงออกโดยรูปแบบต่างๆ คือ การเทศนา การบรรยายธรรม สื่อสิ่งพิมพ์ ตำรับ ตำราเรียน ทั้งทางวิชาการ หนังสืออ่านนอกเวลา และการเผยแผ่ทางวิทยุประชาสัมพันธ์ต่างๆ โดยใช้ เทคนิค หรือวิธีการนำเสนอท่านมักใช้บ่อย ๓ วิธี คือ ๑) การใช้ถ้อยคำเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมาอุปมัย ๒) การนำเสนอโดยการยกอุทาหรณ์ และการเล่านิทานประกอบและ ๓) การใช้สำนวนพุทธ ศาสนสุภาษิต สุภาษิต คำคม โคลง บทกลอนซึ่งทั้ง ๓ วิธีนี้นับว่าเป็นวิธีการที่จัดได้ว่าเป็นวิธีที่ท่านถนัดมากที่สุดเพราะทำให้การเทศนา บรรยายธรรม ของท่านไม่น่าเบื่อ สนุกสนานมากเป็นที่ประทับใจผู้ที่ได้พบ ได้ฟัง
๒. รูปแบบ เทคนิคและวิธีการนำเสนอพระพุทธศาสนาของพระเดชพระคุณพระธรรมราชานุวัตร (กมล โกวิโท) ที่กล่าวมานั้นถือว่าสอดคล้องกับหลักพุทธวิธีในการสื่อสาร คือ มีคุณลักษณะ ๔ อย่าง ดังนี้ ๑. สันทัสสนา อธิบายให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง เหมือนจูงมือไปดูให้เห็นกับตา ๒. สมาทปนา ชักจูงใจให้เห็นจริงด้วย ชวนให้คล้อยตาม จนต้องยอมรับและนำไปปฏิบัติ ๓. สมุตเตชนา เร้าใจให้แกล้วกล้า บังเกิดกำลังใจ ปลุกให้มีอุตสาหะแข็งขันมั่นใจว่าจะทำให้สำเร็จได้ ไม่หวั่นระย่อต่อความเหนื่อยยาก และ ๔. สัมปหังสนา ชโลมใจให้แช่มชื่น ร่าเริง เบิกบาน ไม่น่าเบื่อ และเปี่ยมด้วยความ หวัง เพราะมองเห็นคุณประโยชน์ที่ตนพึงได้รับจากการปฏิบัติอาจผูกเป็นคำสั้นๆ ได้ว่า แจ่มแจ้ง จูงใจ หาญกล้า ร่าเริง หรือ ชี้ชัด เชิญชวน คึกคัก เบิกบาน ทั้งยังสอดคล้องกับหลักนิเทศศาสตร์ที่ยกหลัก การสื่อสารของอริสโตเติลที่เรียกว่า ผู้พูด (Speaker) คำพูด (Speech) และผู้ฟัง (Audience) และหลักการสื่อสารของเบอร์โลที่ประกอบด้วย หลัก ๔ ประการ คือ ๑. ผู้ส่งสาร (Sender) ๒. สาร (Message) ๓. ช่องทาง (Channel) และ ๔. ผู้รับสาร (Receiver) ที่สอดคล้องกันอย่างชัดเจนส่งผลให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาพระธรรมราชานุวัตร (กมล โกวิโท) มีประสิทธิภาพและสำเร็จผลตามต้องการ
ดาวน์โหลด |