บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการบริหารงานของวัดพัฒนาตัวอย่างใน อำเภอลาดหลุมแก้วจังหวัดปทุมธานี ๒) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล กับประสิทธิภาพการบริหารงานของวัดพัฒนาตัวอย่างในอำเภอลาดหลุมแก้วจังหวัดปทุมธานี ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประสิทธิภาพการบริหารงานของวัดพัฒนาตัวอย่างในอำเภอลาดหลุมแก้วจังหวัดปทุมธานี ดำเนินการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method Research) ประกอบด้วย การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่พระสงฆ์ที่อยู่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี จำนวน ๒๐๐ รูป และประชาชนที่เป็น ไวยาวัจกร กรรมการวัด มรรคนายก กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ในอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ๑๖๐ คน รวม ๓๖๐ รูป/คน ได้มาโดยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบสัมภาษณ์ แบบบันทึกข้อมูลภาคสนาม และแบบสอบถามความคิดเห็น การวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามใช้โปรแกรมสำเร็จรูปโดยใช้สถิติร้อยละสำหรับข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม และใช้สถิติ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานสำหรับระดับความคิดเห็น ข้อมูลจากการบันทึกภาคสนามใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) นอกจากนี้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสัมภาษณ์ (Interview) โดยวิธีการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลักจำนวน ๕ ท่าน วิเคราะห์ข้อมูลการสัมภาษณ์ โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เชิงเนื้อหาประกอบบริบท (Content Analysis Technique)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. พระสงฆ์และประชาชน มีความคิดเห็นต่อประสิทธิภาพการบริหารงานของวัดพัฒนาตัวอย่างในอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี อยู่ในระดับมากทุกด้าน
๒. ผลการหาค่าความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับประสิทธิภาพการบริหารงานของวัดพัฒนาตัวอย่างในอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ไม่มีความสัมพันธ์กันซึ่งปฏิเสธสมมติฐานการวิจัยที่ตั้งไว้
๓. ปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับประสิทธิภาพการบริหารงานของวัดพัฒนาตัวอย่างในอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ทั้งพระสงฆ์และประชาชน สามารถสรุปได้ดังนี้
พระสังฆาธิการส่วนมากไม่มีการวางกฎระเบียบที่แน่นอนสำหรับการปฏิบัติของผู้ที่อยู่ในปกครอง, พระสังฆาธิการไม่มีมาตราการรองรับความผิดในเรื่องบทลงโทษ ขาดการวางแผนในเรื่องแผนปฏิบัติงานประจำปี ขาดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในเรื่องตัวบุคลากรผู้สอน ผู้ถ่ายทอดความรู้, บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการสอนธรรมและบาลียังใช้หลักการสอนแบบเดิมๆ, ยังขาดการสร้างแรงจูงใจ สำหรับทั้งผู้ที่จะเรียน และผู้ที่สอบได้เปรียญธรรม และขาดเงินงบประมาณสนับสนุนการเรียนในการศึกษาที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
๔. ผลจากการสัมภาษณ์ พบว่า ประสิทธิภาพการบริหารงานของวัดพัฒนาตัวอย่างในอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานีนั้นมีการบริหารงาน ๖ ด้าน คือ ๑) ด้านการปกครอง ๒) ด้านการศาสนศึกษา ๓) ด้านศึกษาสงเคราะห์ ๔) ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๕) ด้านการสาธารณูปการ และ ๖) ด้านการสาธารณสงเคราะห์
ดาวน์โหลด |