หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูใบฎีกาสุพจน์ ธีรวํโส (มณีจันทร์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๕๓ ครั้ง
บทบาทของพระสงฆ์ในการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุในอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี
ชื่อผู้วิจัย : พระครูใบฎีกาสุพจน์ ธีรวํโส (มณีจันทร์) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  อาจารย์ ดร.พิเชฐ ทั่งโต, พ.ม.ช., พธ.บ., M.A., Ph.D. (Pub. Admin.)
  ผศ.ชวัชชัย ไชยสา, พธ.บ., M.A. (Pol. Sc.)
  ผศ.ดร.โกนิฏฐ์ ศรีทอง, พ.ม., พธ.บ., M.A., Ph.D. (Soc.)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                   การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ศึกษาบทบาทของพระสงฆ์ในการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ในอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี (๒) เพื่อเปรียบเทียบบทบาทของพระสงฆ์ในการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ในอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล และ (๓) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาบทบาทของพระสงฆ์ในการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ในอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี โดยในการศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Research) ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เก็บข้อมูลภาคสนาม (Field Study) จากพระสงฆ์มหานิกายในสังกัดคณะสงฆ์อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี จำนวน ๒๘๖ รูป โดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) ลักษณะของแบบสอบถามเป็นทั้งปลายปิดและปลายเปิด ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ โดยหาค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation : S.D.) ทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบ  ค่าที (t-test) และค่าเอฟ (F-test) วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way Analysis of Variance) เมื่อพบความแตกต่าง จึงทำการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นคู่ ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference: LSD) และเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) คือ การวิเคราะห์เอกสารและการสัมภาษณ์ (Interview)

ผลการวิจัยพบว่า

                   ๑. บทบาทของพระสงฆ์ในการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ในอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี โดยภาพรวม อยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๒.๙๖ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ทั้ง ๓ ด้าน ได้แก่ (๑) ด้านการดูแลรักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ (๒) ด้านการให้ความรู้ในการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุแก่ประชาชน และ (๓) ด้านความร่วมมือในการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ด้านการดูแลรักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๒๐ ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ ด้านความร่วมมือในการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๒.๖๔

                   ๒. ผลการเปรียบเทียบบทบาทของพระสงฆ์ในการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ในอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล พบว่า พระสงฆ์ที่มีสถานภาพส่วนบุคคลในด้านสถานะภายในวัด อายุ วุฒิการศึกษาสามัญ และวุฒิการศึกษานักธรรม ต่างกัน มีบทบาทในการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ โดยภาพรวม ไม่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นการปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้ กล่องข้อความ: ๑๑๙ส่วนพระสงฆ์ที่มีสถานภาพส่วนบุคคลในด้านพรรษา และวุฒิการศึกษาเปรียญธรรม ต่างกัน มีบทบาทในการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ โดยภาพรวม แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ซึ่งเป็นการยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้

                   ๓. ข้อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาบทบาทของพระสงฆ์ในการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ในอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ตามรายด้านของการวิจัย ดังนี้

                       ๓.๑ ด้านการดูแลรักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ มีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการจัดตั้งกองอาสาสมัครชุมชนเฝ้าระวังการโจรกรรมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุร่วมกับพระสงฆ์ พร้อมทั้งติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อสามารถติดตามภาพเหตุการณ์โจรกรรมที่อาจเกิดขึ้นได้ และ ควรประสานความร่วมมือกับกรมศิลปากรและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ในการจัดอบรมถวายความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ แก่พระสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระสงฆ์ในสังกัดวัดซึ่งเป็นที่ตั้งหรือเก็บรักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ

                       ๓.๒ ด้านการให้ความรู้ในการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุแก่ประชาชน มีข้อเสนอแนะว่า พระสงฆ์ควรรณรงค์ให้ประชาชนในท้องถิ่น ตระหนักถึงความสำคัญของโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์แก่ประชาชน และควรมุ่งกลุ่มเป้าหมายไปที่เยาวชน โดยการปลูกฝังค่านิยมการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน และ ควรจัดอบรมหลักสูตรบุคลากรเฉพาะด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ประจำท้องถิ่น แล้วคัดเลือก/แต่งตั้ง บุคลากรผู้มีความสามารถที่ผ่านการอบรม ให้เป็นนักวิชาการด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุประจำชุมชน

                       ๓.๓ ด้านความร่วมมือในการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง มีข้อเสนอแนะว่า ทั้ง ๓ ฝ่าย ได้แก่ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง วัด และชุมชน ควรทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกันในการทำกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ และ คณะสงฆ์และภาครัฐ ควรให้อำนาจรับผิดชอบแก่พระภิกษุผู้มีตำแหน่งเป็นผู้ดูแลโบราณสถาน ให้สามารถประสานงานกับหน่วยงานราชการผู้รับผิดชอบได้โดยตรง โดยข้ามขั้นตอนของสายการบังคับบัญชาบางส่วนที่ไม่จำเป็น เพื่อให้ทันการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้น

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕