บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ (๑) เพื่อศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักไตรสิกขาของศูนย์การเรียนชุมชน อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น (๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักไตรสิกขา ของศูนย์การเรียนชุมชน อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ (๓) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคและนำเสนอแนวทางของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักไตรสิกขาของศูนย์การเรียนชุมชน อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียน ครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ ของศูนย์การเรียนชุมชน จำนวน ๓๓๓ คน จากจำนวนประชากรทั้งหมด ๑,๙๕๗ คน ซึ่งใช้การสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับความคิดเห็นของประชากรต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักไตรสิกขา ของศูนย์การเรียนชุมชน อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น มีความเชื่อมั่น ๐.๙๓๙ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ โดยการหา ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) และการเปรียบเทียบความคิดเห็นของประชากรต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักไตรสิกขาของศูนย์การเรียนชุมชน อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น วิเคราะห์โดย การทดสอบที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way analysis of variance) และในกรณีที่พบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยตั้งแต่ ๓ กลุ่มขึ้นไป ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญที่น้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ความคิดเห็นของประชากรต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักไตรสิกขาของศูนย์การเรียนชุมชน อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( = ๓.๘๘) เมื่อจำแนกเป็นรายด้าน พบว่า นักเรียน ครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ มีความคิดเห็นต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักไตรสิกขา ที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ( = ๓.๙๔) ในด้านศีล (การฝึกฝนพัฒนาด้านพฤติกรรม) ส่วนที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ( = ๓.๘๒) ด้านปัญญา (การพัฒนาปัญญา), ตามลำดับ
๒. การเปรียบเทียบความคิดเห็นของนักเรียน ครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ ต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักไตรสิกขา จำแนกตาม เพศ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ และสถานภาพ พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลไม่มีผลทำให้ประชากรมีความคิดเห็นต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักไตรสิกขา ไม่แตกต่างกัน จึงไม่ยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓. ปัญหาและอุปสรรค ที่เกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักไตรสิกขาของศูนย์การเรียนชุมชน อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ได้แก่ ๑) คนส่วนใหญ่มักจะมีเวลาในการทำงานมาก ไม่ค่อยมีเวลามาปฏิบัติธรรม ๒) เป็นคนค่อนข้างใจร้อน ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ไม่ค่อยมีสมาธิ เป็นคนสมาธิสั้น ๓) ทางศูนย์การเรียนชุมชนขาดบุคลากรในการพัฒนาเยาวชน ในด้านจัดกิจกรรมด้านปัญญา
๔. ข้อเสนอแนะและแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักไตรสิกขา จึงต้องเพิ่มรูปแบบการพัฒนาให้ชัดเจน เพื่อให้มีลำดับขั้นตอนการพัฒนาที่สมบูรณ์แบบตามหลักการพัฒนายุคใหม่ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่ได้ตั้งเอาไว้ ตามหลักของ ศีล สมาธิ และปัญญา ก็คือการพัฒนาในด้านร่างกาย ในด้านจิตใจ และในด้านปัญญา ซึ่งประยุกต์ใช้กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักไตรสิกขา ในศูนย์การเรียนชุมชน อำเภอพล จังหวัดขอนแก่นให้ดียิ่งขึ้น
ดาวน์โหลด
|