บทคัดย่อ
งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลขององค์การบริหารส่วนตำบลในเขตพื้นที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ตามทัศนะของประชาชน (๒) เพื่อเปรียบเทียบทัศนะของประชาชนต่อการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลในเขตพื้นที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล (๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลในเขตพื้นที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ประชาชนจำนวน ๓๘๑ คน ภายในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล ๕ แห่ง คือ องค์การบริหารส่วนตำบลคูตัน องค์การบริหารส่วนตำบลด่าน องค์การบริหารส่วนตำบลโคกตะเคียน องค์การบริหารส่วนตำบลแนงมุด องค์การบริหารส่วนตำบลตะเคียน ซึ่งใช้การสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Sample Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม ซึ่งเป็นแบบสอบถามแบบเลือกตอบ แบบมาตราส่วนประเมินค่าและแบบสอบถามปลายเปิด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศชาย จำนวน ๒๒๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๗.๗๔ มีอายุ ๓๑ - ๔๐ ปี จำนวน ๙๒ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๔.๑๕ มีสถานภาพแต่งงาน จำนวน ๒๔๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๖๔.๕๗ มีอาชีพเกษตรกรรม จำนวน ๒๙๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๗๖.๓๘ มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีจำนวน ๓๕๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๙๓.๔๔
๒. ประชาชนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลขององค์การบริหารส่วนตำบลในเขตพื้นที่ อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ( = ๓.๓๒) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า การบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลตามหลักธรรมาภิบาลอยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน
๓. ผลการเปรียบเทียบพบว่า ประชาชนมีความคิดเห็นต่อการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลตามหลักธรรมาภิบาล : กรณีศึกษาในเขตพื้นที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ โดยจำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล แตกต่างกันตาม อายุ และวุฒิการศึกษา ส่วนประชาชนที่มีเพศ สถานภาพ และอาชีพ ต่างกัน มีความคิดเห็นไม่แตกต่างกัน
๔. ปัญหา และข้อเสนอแนะในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลตามหลักธรรมาภิบาล : กรณีศึกษาในเขตพื้นที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ ๑) บุคลากรบางส่วนยังไม่ทราบข้อกฎหมายหรือข้อบัญญัติต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารงานในแต่ละส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบล ๒) บุคลากรบางส่วนยังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม และบางส่วนยังเห็นแก่พวกพ้องของตนเอง ๓) การบริหารงานในบางเรื่องขององค์การบริหารส่วนตำบลไม่มีความชัดเจนในเรื่องของงบประมาณที่นำไปใช้ และผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ๔) การทำงานในบางเรื่องไม่ค่อยเปิดโอกาส ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ๕) บุคลากรบางส่วนปฏิบัติงานตามความรู้สึกของตนเอง โดยไม่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และไม่คำนึงถึงผลงานที่ออกมา ๖) การจัดสรรงบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบลไม่มีความทั่วถึงไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ในเขตการปกครอง
ดาวน์โหลด |