เข้าชม : ๑๙๙๗๐ ครั้ง |
ลักษณะทางจิตสังคมที่ส่งผลต่อพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของนักเรียนในโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา (๒๕๔๘) |
|
ชื่อผู้วิจัย : |
พระวันชัย ธนวํโส (กัณหะกาญจนะ) |
ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๘/๒๐๑๐ |
ปริญญา : |
พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา) |
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ : |
|
พระสุธีวรญาณ |
|
พระศรีสิทธิมุนี |
|
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อ้อมเดือน สดมณี |
วันสำเร็จการศึกษา : |
/ 02 / 2548 |
|
บทคัดย่อ |
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ประการ คือ (1) เพื่อเปรียบเทียบโรงเรียนทีประเภทแตกต่างกัน (โรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา โรงเรียนสามัญ) และโรงเรียนที่มีขนาดแตกต่างกัน (ใหญ่ เล็ก) โดยจะศึกษาว่านักเรียนมีพฤติกรรมเชิงจริยธรรมแตกต่างกันหรือไม่ (2) เพื่อศึกษาว่าประเภทโรงเรียน (โรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา โรงเรียนสามัญ) ขนาดโรงเรียน (ใหญ่ เล็ก) และลักษณะทางสังคมที่แตกต่างกัน (การรับรู้บทบาทการเรียนการสอนของครู การได้รับการถ่ายทอดทางพระพุทธศาสนาจากบิดามารดา) มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของนักเรียนหรือไม่ (3) เพื่อศึกษาว่าประเภทโรงเรียน (โรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา โรงเรียนสามัญ) ขนาดโรงเรียน (ใหญ่ เล็ก) และลักษณะทางจิตที่แตกต่างกัน (ทัศนคติต่อพฤติกรรมเชิงจริยธรรม ความเชื่อทางพระพุทธศาสนา) มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของนักเรียนหรือไม่ และ (4) เพื่อศึกษาหามูลเหตุที่แท้จริงของการเกิดพฤติกรรมเชิง จริยธรรมของนักเรียนในโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ ใช้การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการวิจัยเชิงปริมาณและวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ คือ การเก็บข้อมูลด้วยวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ เพื่อตอบวัตถุประสงค์ข้อ 1, 2 และ 3 ส่วนการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อตอบวัตถุประสงค์ข้อ 4 ดังนั้น การดำเนินงานจึงแบ่งเป็น 2 ตอน คือ
การดำเนินงานตอนที่ 1
ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาแบ่งเป็นตัวแปรอิสระ 4 ตัวแปร คือ ลักษณะทางสังคม 2 ตัวแปร ได้แก่ (1) การรับรู้บทบาทการเรียนการสอนของครู (2) การได้รับการถ่ายทอดทางพระพุทธศาสนาจากบิดามารดา ลักษณะทางจิต 2 ตัวแปร ได้แก่ (3) ทัศนคติต่อพฤติกรรมเชิงจริยธรรม (4) ความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ตัวแปรตาม คือ พฤติกรรมเชิงจริยธรรมของนักเรียน โดยมีตัวแปรแบ่งกลุ่ม คือ ประเภทโรงเรียนและขนาดโรงเรียน
กลุ่มตัวอย่างของการศึกษา คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา และโรงเรียนสามัญขนาดใหญ่และเล็ก จำนวน 459 คน โดยใช้เครื่องมือวัด คือแบบสอบถาม และทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทาง และสามทางตามลำดับ (Two-way and Three-way ANOVA)
การดำเนินงานตอนที่ 2
ดำเนินการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นสมาชิกของชุมชนโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา คือ นักเรียน ครู บิดามารดาหรือผู้ปกครอง จำนวนรวม 74 รูป/คน โดยการสัมภาษณ์เจาะลึก (In-depth Interview) และการทำสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) ทั้งนี้ เพื่อที่จะค้นหาปัจจัยเชิงสาเหตุที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ ซึ่งอยู ่นอกเหนือกรอบแนวคิดของการวิจัยในการดำเนินงานตอนที่ 1 โดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ในการแปลความหมายข้อมูล
การวิจัยตอนที่ 1 พบผลดังนี้
1. นักเรียนของโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนาขนาดใหญ่และเล็ก มีพฤติกรรมเชิงจริยธรรมสูงกว่านักเรียนของโรงเรียนสามัญขนาดใหญ่และเล็ก เมื่อเปรียบเทียบระหว่างโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนาด้วยกัน พบว่า นักเรียนของโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนาขนาดเล็ก มีพฤติกรรมเชิงจริยธรรมสูงกว่านักเรียนของโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนาขนาดใหญ่
2. นักเรียนในกลุ่มที่รับรู้บทบาทการเรียนการสอนของครูสูง มีพฤติกรรมเชิงจริยธรรมสูงกว่านักเรียนในกลุ่มที่รับรู้บทบาทการเรียนการสอนของครูต่ำ
3. ในโรงเรียนขนาดเล็ก และในกลุ่มนักเรียนที่ได้รับการถ่ายทอดทางพระพุทธศาสนาจากบิดามารดาสูงเหมือนกัน พบว่า นักเรียนของโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา มีพฤติกรรมเชิงจริยธรรมสูงกว่านักเรียนของโรงเรียนสามัญ ในทางกลับกัน ในโรงเรียนขนาดใหญ่ และในกลุ่มนักเรียนที่ได้รับการถ่ายทอดทางพระพุทธศาสนาจากบิดามารดาต่ำเหมือนกัน พบว่า นักเรียนของโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา มีพฤติกรรมเชิงจริยธรรมสูงกว่านักเรียนของโรงเรียนสามัญในโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ที่เป็นโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน พบว่า นักเรียนที่ได้รับการถ่ายทอดทางพระพุทธศาสนาจากบิดามารดาสูง มีพฤติกรรมเชิงจริยธรรมสูงกว่านักเรียนที่ได้รับการถ่ายทอดทางพระพุทธศาสนาจากบิดามารดาต่ำ
4. ในโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดเล็ก และในกลุ่มนักเรียนที่มีทัศนคติต่อพฤติกรรมเชิงจริยธรรมสูงเหมือนกัน พบว่า นักเรียนของโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา มีพฤติกรรมเชิงจริยธรรมสูงกว่านักเรียนของโรงเรียนสามัญ
ในโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ที่เป็นโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน พบว่า นักเรียนที่มีทัศนคติต่อพฤติกรรมเชิงจริยธรรมสูง มีพฤติกรรมเชิงจริยธรรมสูงกว่านักเรียนที่มีทัศนคติต่อพฤติกรรมเชิงจริยธรรมต่ำ
5. นักเรียนในกลุ่มที่มีความเชื่อทางพระพุทธศาสนาสูง มีพฤติกรรมเชิงจริยธรรมสูงกว่านักเรียนในกลุ่มที่มีความเชื่อทางพระพุทธศาสนาต่ำ
การวิจัยตอนที่ 2 พบผลดังนี้
ในกลุ่มนักเรียน พบเห็นปัจจัยเชิงสาเหตุที่สำคัญ 4 ปัจจัย คือ (1) ทัศนคติต่อพฤติกรรมเชิงจริยธรรม (2) การได้รับการถ่ายทอดทางพระพุทธศาสนาจากบิดามารดา (3) ความเชื่อทางพระพุทธศาสนา และ (4) ลักษณะทางพระพุทธศาสนา
ในกลุ่มครู พบเห็นปัจจัยเชิงสาเหตุที่สำคัญ 4 ปัจจัย คือ (1) ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน (2) ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนนักเรียน (3) ลักษณะทางพระพุทธศาสนา และ (4) การเป็นแบบอย่างหรือตัวแบบ
ในกลุ่มบิดามารดาหรือผู้ปกครอง พบเห็นปัจจัยเชิงสาเหตุที่สำคัญ 4 ปัจจัย คือ (1) การถ่ายทอดทางพระพุทธศาสนา (2) ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว (3) ความเชื่อทางพระพุทธศาสนา และ (4) ทัศนคติต่อการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการสอน |
|
Download :
254805.pdf |
|