การวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของครูและนักเรียนที่มีต่อบทบาทของพระสอนธรรมศึกษาในโรงเรียนอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของครูและนักเรียนที่มีต่อบทบาทของพระสอนธรรมศึกษาในโรงเรียนอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อบทบาทของพระสอนธรรมศึกษาในโรงเรียนอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ศึกษาวิจัยโดยใช้การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research)
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ครูและนักเรียนในโรงเรียนอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน ๕๗๘ คน ซึ่งใช้การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม มีลักษณะเป็นแบบตรวจสอบรายการและมาตราส่วนประเมินค่า ๕ ระดับ และแบบสอบถามปลายเปิด ซึ่งผู้ศึกษาสร้างขึ้นเอง โดยมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .๙๐๙ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test)
ผลการศึกษาพบว่า
ครู มีความคิดเห็นต่อบทบาทพระสอนธรรมศึกษาในโรงเรียนอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๓๕ และเมื่อพิจารณาแต่ละด้าน พบว่า ครู มีความคิดเห็นต่อบทบาทพระสอนธรรมศึกษา อยู่ในระดับมากที่สุดในด้านคุณธรรมและจริยธรรม ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๕๔ ส่วนด้านความสามารถในการสอน อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๒๗
สำหรับนักเรียนมีความคิดเห็นต่อบทบาทพระสอนธรรมศึกษาในโรงเรียนอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๒๒ และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า นักเรียนมีความคิดเห็นต่อบทบาทพระสอนธรรมศึกษา อยู่ในระดับมากทั้งด้านคุณธรรมและจริยธรรม ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๓๙ และด้านความสามารถในการสอน ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๑๕
ครูและนักเรียน มีความคิดเห็นต่อบทบาทพระสอนธรรมศึกษาในโรงเรียนอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยรวมแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑ ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ครูและนักเรียน มีความคิดเห็นต่อบทบาทพระสอนธรรมศึกษา ในด้านคุณธรรมและจริยธรรมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑ และด้านความสามารถในการสอนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ นอกจากนี้ในด้านความสามารถในการสอน เมื่อพิจารณาเป็นด้านย่อย พบว่า ครูและนักเรียนมีความคิดเห็นแตกต่างกันในด้านการเตรียมการสอน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑ และด้านการดำเนินการสอน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ ส่วนด้านการวัดผลและการประเมินผลการเรียน ครูและนักเรียนมีความคิดเห็นไม่แตกต่างกัน
ผลการศึกษาปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ พบว่า ปัญหาและอุปสรรคที่มีต่อบทบาทพระสอนธรรมศึกษาในโรงเรียนอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ได้แก่ จำนวนครูพระสอนธรรมศึกษาที่ไม่เพียงพอ การเดินทางของครูพระสอนธรรมศึกษา การจัดเวลาในการเรียน
การจัดทำแผนการสอน ค่าตอบแทน รวมไปถึงสื่อการสอนและการพัฒนาสื่อการสอนของครูพระสอนธรรมศึกษาที่ยังไม่ทันสมัย และความไม่มีเอกภาพในการวัดผลและประเมินผล ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหา ได้แก่ การเพิ่มจำนวนครูพระสอนธรรมศึกษา การจัดให้มีรถรับส่ง การจัดเวลาเรียนให้เหมาะสม การจัดประชุมร่วมกันของครูพระสอนธรรมศึกษาและผู้บริหารโรงเรียน การเพิ่มค่าตอบแทน การจัดหาสื่อและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทันสมัย
ดาวน์โหลด |