บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาระดับภาวะผู้นำเชิงพุทธของผู้นำการปกครองส่วนท้องที่ ในอำเภอพุยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ๒) เพื่อเปรียบเทียบภาวะผู้นำเชิงพุทธของผู้นำการปกครองส่วนท้องที่ ในอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และแนวทางพัฒนาของภาวะผู้นำเชิงพุทธของผู้นำการปกครองส่วนท้องที่ ในอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์
ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ ผู้นำการปกครองส่วนท้องที่ ในอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน ๑๙๑ ชุด แบบสอบถามที่ใช้ในการวิจัยมีการหาคุณภาพ โดยการหาความเที่ยงตรงของเนื้อหา (Content validity) จากผู้เชี่ยวชาญจำนวน ๕ ท่าน และมีค่าความเชื่อมั่น (Reliability) เท่ากับ ๐.๙๖๐ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาความถี่ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ใช้สถิติทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA)
ผลการวิจัย พบว่า
ความคิดเห็นของผู้นำการปกครองส่วนท้องที่ที่มีต่อภาวะผู้นำ ในอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละด้านพบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้านโดยมีค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยตามลำดับดังนี้ ด้านความเป็นผู้รู้จักตน ด้านความเป็นผู้รู้กาล ด้านความเป็นผู้รู้จักประมาณ ด้านความเป็นผู้รู้จักบริษัท ด้านความเป็นผู้รู้จักเหตุ และ ด้านความเป็นผู้รู้จักผล ยกเว้น ด้านความเป็นผู้รู้จักบุคคล อยู่ในระดับปานกลาง
เปรียบเทียบภาวะผู้นำของผู้นำการปกครองส่วนท้องที่ ในอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า ผู้นำการปกครองส่วนท้องที่ที่มี เพศและตำแหน่งต่างกันมีระดับภาวะผู้นำเชิงพุทธโดยภาพรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนผู้นำการปกครองส่วนท้องที่ที่มี อายุ การศึกษา และรายได้ต่างกันมีระดับภาวะผู้นำเชิงพุทธโดยภาพรวมไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้
ปัญหาเกี่ยวกับภาวะผู้นำการปกครองส่วนท้องที่ ในอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ พบว่า ส่วนข้อเสนอแนะ พบว่า ส่วนใหญ่ผู้นำการปกครองส่วนท้องที่ยังไม่ทราบสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงของชุมชนนั้นๆเท่าที่ควร ลักษณะการทำงานของผู้นำการปกครองส่วนท้องที่ยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน และทำงานโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา ผู้นำการปกครองส่วนท้องที่บางส่วนยังยึดติดกับอำนาจการปกครองสมัยก่อน ส่วนใหญ่จะไม่คำนึงถึงหน้าที่ที่ตนปฏิบัติและมักจะปัดหน้าที่ความรับผิดชอบให้คนอื่น ผู้นำการปกครองส่วนท้องที่ยังยึดติดกับเวลาการทำงาน เมื่อหมดเวลางาน งานที่ยังค้างคายังไม่เสร็จก็ยังค้างคาอยู่อย่างเดิม ผู้นำการปกครองส่วนท้องที่บางคนรู้จักชุมชนอย่างดีแต่เมื่อเห็นปัญหาของชุมชนกับไม่มีแนวทางในการแก้ไขปัญหา ทำให้ชุมชนไม่เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้น และผู้นำการปกครองส่วนท้องที่บางชุมชนยังมีปัญหาเกี่ยวกับด้านบุคคลมากโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยของการเที่ยวและอารมณ์รุนแรงชอบมั่วสุมตามสถานที่ต่างๆ
ดาวน์โหลด |