บทคัดย่อ
การวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาวัดในอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ ๒) เพื่อเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาวัดในอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในพัฒนาวัดในอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์
ระเบียบวิธีการวิจัยผู้วิจัยได้ศึกษาวิจัยโดยวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกับประชาชนที่อยู่ในเขตอำเภอตากฟ้า มีอายุ ๒๐ ปี ขึ้นไป สุ่มกลุ่มตัวอย่างได้ จำนวน ๓๘๐ คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ โดยใช้สถิติค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการทดสอบค่าเอฟ (F-test) ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) ในกรณีตัวแปรต้นตั้งแต่สามกลุ่มขึ้นไป เมื่อพบว่ามีความแตกต่างจะทำการเปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีการ (Least Significant Difference : LSD) โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ ๐.๐๕
ผลการศึกษา พบว่า
๑. ประชาชนมีความคิดเห็นต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาวัด ในอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ ในภาพรวม อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายละเอียดในแต่ละด้าน พบว่า ประชาชนมีความคิดเห็นต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาวัด ในอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ อยู่ในระดับมาก ทุกด้าน
๒. เปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาวัด ในอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ และรายได้ต่อเดือน ที่แตกต่างกัน ตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ พบว่า ประชาชนมีความคิดเห็นต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาวัด ในอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ ด้านเพศ ไม่แตกต่างกัน ส่วนด้านอายุ ด้านการศึกษา ด้านอาชีพ และด้านรายได้ต่อเดือน แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๑
๓. ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาวัด ในอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ ข้อเสนอแนะเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาวัด ในอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ คือ ๑) วัดควรให้มีการจัดการประชุมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาในวัดด้านการวางแผน ด้านการปฏิบัติงาน ด้านการตรวจสอบ และด้านการแก้ไขปัญหาให้บ่อยขึ้นอย่างน้อยเดือนละสองครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการมีส่วนร่วมของประชาชน ๒) วัดควรมีการบันทึกรายการต่างๆของวัด เช่น การใช้จ่าย การจัดกิจกรรม เป็นต้นให้เป็นลายลักษณ์อักษรมากยิ่งขึ้นและชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบอย่างสม่ำเสมอเพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ ๓) หน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยงานสำคัญที่จะผลักดันให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาวัดโดยการจัดกิจกรรมต่างๆร่วมกับวัดเพื่อเสริมสร้างให้ประชาชนเข้าวัด เพื่อจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับประชาชน และทั้งนี้ก็จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ดาวน์โหลด |