การวิจัยคัมภีร์ปัญญาสชาดกปฐมภาค ผู้วิจัยได้วิจัยชาดก ๖ เรื่อง คือ วรวังสชาดก อรินทมชาดก รถเสนชาดก สุวัณณสิรสาชาดก วนาวนชาดก และพากุลชาดก ปัญญาสชาดกแต่ละชาดก กล่าวถึงการเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้ามีการบำเพ็ญบารมีในลักษณะต่างๆ เช่น บริจาคทาน รักษาศีล โดยที่ท่านผู้แต่งมีความประสงค์จะประกาศศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า ผ่านตัวละครในชาดกเป็นสำคัญ สิ่งที่ท่านเน้นเป็นพิเศษก็คือ การทำความดี กับทำความชั่ว และผลที่ได้รับ วิทยานิพนธ์นี้มี ๔ บท คือ บทที่ ๑ ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา วัตถุประสงค์ของการวิจัย ขอบเขตของการวิจัย วิธีดำเนินการวิจัย และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ บทที่ ๒ ศึกษาวิเคราะห์ และเปรียบเทียบคัมภีร์ปัญญาสชาดก บทที่ ๓ คัมภีร์ปัญญาสชาดกที่ตรวจชำระแล้ว บทที่ ๔ สรุปและข้อเสนอแนะ ในภาคผนวก ผู้วิจัยได้สรุปเนื้อหาของวรวังสชาดก อรินทมชาดก รถเสนชาดก สุวัณณสิรสาชาดก วนาวนชาดก และพากุลชาดกไว้เป็นภาษาไทย เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจแต่ไม่มีความชำนาญในภาษาบาลี จะได้ศึกษาปัญญาสชาดกทั้ง ๖ ชาดก ได้ ข้าพเจ้าทำการวิเคราะห์คัมภีร์ปัญญาสชาดกเป็นต้นแล้วจึงรู้ว่า ท่านผู้เขียนคัมภีร์ปรารถนาให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้นานและมั่นคง จึงเขียนคัมภีร์ปัญญาสชาดกไว้ ขนทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมเรียกบุคคลผู้รู้ในประโยชน์ของตนแล้วขวายในประดยชน์ของตนและไม่ทำประโยชน์ของผู้อื่นให้เสื่อมไปว่า เป็นบัณฑิต ปัญญาสชาดกก็ได้อาศัยบัณฑิตนั้นจึงเกิดขึ้นในโลกนี้ได้ ผู้ใดปรารถนาความเจริญงอกงามไพบูลย์แก่ชีวิตของตนๆ ผู้นั้นศึกษาพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา ทำสาระประโยชน์ให้เกิดในตน ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว ย่อมประสบความเจริญงอกงามไพบูลย์แน่นอน พุทธศาสนิกชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมากจึงนิยมศึกษาเรื่องราวในคัมภีร์ปัญญาสชาดกเป็นต้น โดยนัยที่กล่าวแล้วตั้งแต่ต้นนั่นแล