บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ศึกษาประสิทธิภาพการบริหารจัดการโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ตามหลักอิทธิบาท ๔ (๒) เปรียบเทียบประสิทธิภาพการบริหารจัดการโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ตามหลักอิทธิบาท ๔ โดยจำแนกปัจจัยส่วนบุคคล และ (๓) ศึกษาปัญหา อุปสรรคและแนวทางการประยุกต์ใช้หลักอิทธิบาท ๔ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างกลุ่มตัวอย่างคือ บุคลากรที่อยู่ในโรงเรียนมัธยมศึกษาเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร จำนวน ๓๕๕ คน โดยใช้การสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอนวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ คือ ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าร้อยละ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เพื่อบรรยายสถานภาพทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง การทดสอบค่าที (t-test) ใช้ทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยสองกลุ่ม การทดสอบค่าเอฟ (F-test) โดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) ใช้ทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยตั้งแต่สามกลุ่มขึ้นไปและทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD) และการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) และใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ประสิทธิภาพการบริหารจัดการโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ตามหลักอิทธิบาท ๔ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๙๗เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน
๒. ผลการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการบริหารจัดการโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ตามหลักอิทธิบาท ๔ โดยจำแนกปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า บุคลากรที่มีระดับการศึกษา ตำแหน่ง และรายได้ มีความคิดเห็นต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ตามหลักอิทธิบาท ๔ โดยภาพรวมแตกต่างกัน จึงยอมรับสมมติฐานการวิจัย ในขณะที่ด้านเพศ อายุ และประสบการณ์ ไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานการวิจัย
๓. ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ ต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ตามหลักอิทธิบาท ๔ พบว่าบุคลากรบางคนยังเกิดความเบื่อหน่ายต่องานในหน้าที่และภารกิจที่ได้รับมอบหมาย บางครั้งก็ไม่มีความเพียรพยายาม ถูกกดดันจากผู้บริหารและเพื่อนครูในการปฏิบัติงานบางครั้งก็ขาดความเอาใจใส่ต่องาน และบุคลากรบางคนยังไม่มีการนำเอาข้อบกพร่องของงานมาเป็นแนวทางการทำงานครั้งต่อไป
ข้อเสนอแนะบุคลากรควรมีความต้องการใฝ่ใจรักที่จะปฏิบัติงานอยู่เสมอปรารถนาที่จะปฏิบัติงานให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป มีความขยัน หมั่นประกอบการงานด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระ ไม่ท้อถอย ต้องตั้งจิตรับรู้ในภารกิจที่ได้รับมอบหมายโดยปฏิบัติงานด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป อุทิศตัวอุทิศใจให้แก่งานที่ปฏิบัติอย่างแท้จริง และหมั่นใช้ปัญญาพิจารณา ใคร่ครวญ ตรวจตราหาเหตุผล ตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในงานนั้นๆ ที่สำคัญต้องรู้จักการวางแผนงาน วัดผลและคิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุงงานให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ดาวน์โหลด |