บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีจุดหมายเพื่อศึกษาวิเคราะห์ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการบริหารองค์กรของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ(๑) เพื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวกับผู้นำ ภาวะผู้นำ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง การบริหารองค์กร และแนวคิดเกี่ยวกับผู้นำในทางพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการบริหารองค์กรของดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยาและ(๓) เพื่อศึกษา แนวทางการประยุกต์องค์ความรู้เรื่อง ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการบริหารองค์กรของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา เพื่อใช้กับสังคมไทยในปัจจุบัน งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวิธีการดำเนินการวิจัยดังนี้ ๑) ศึกษาข้อมูลปฐมภูมิ โดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกบุคคลที่เกี่ยวข้อง และ ๒) ศึกษาข้อมูลทุติยภูมิ จากสื่อวีดิทัศน์ รายการโทรทัศน์ เอกสาร หนังสือ ตำรา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ผลการวิจัยพบว่า ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา มีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีพฤติกรรม๔ ด้าน อย่างชัดเจน คือ(๑) พฤติกรรมด้านการมีอิทธิพลในเชิงอุดมการณ์ หมายถึงพฤติกรรมผู้นำที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีความประพฤติดีงาม จนเป็นแบบอย่างให้กับผู้ตามได้ประพฤติตาม(๒) พฤติกรรมด้านการสร้างแรงบันดาลใจ หมายถึง พฤติกรรมของผู้นำที่สามารถทำให้ผู้ตามเกิดแรงบันดาลใจที่จะปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ขององค์กร (๓) พฤติกรรมด้านการกระตุ้นสติปัญญา หมายถึงพฤติกรรมของผู้นำที่มีการกระตุ้นผู้ตาม ให้เกิดการใช้ความคิด สติปัญญา วิเคราะห์ แยกแยะ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เหมาะสม ทั้งในด้านการทำงานและการดำเนินชีวิต และ (๔) พฤติกรรมด้านการคำนึงถึงปัจเจกบุคคล หมายถึง พฤติกรรมของผู้นำที่มีการคำนึงถึงความสำคัญของบุคคลที่อยู่ร่วมด้วยเป็นรายบุคคล ให้ความสนใจ และให้ความช่วยเหลือ อันจะทำให้ผู้ตาม มีความรู้สึกว่าตนเป็นคนที่มีคุณค่า
พฤติกรรมภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ซึ่งได้แสดงออกมานั้น ทำให้ดร.อาจอง ประสบความสำเร็จในการบริหารโรงเรียนสัตยาไสให้เป็นสถานที่ให้การศึกษาด้านวิชาการ และบ่มเพาะมนุษย์ให้มีคุณค่า ๕ ประการ อันได้แก่ การเป็นคนที่มีความจริง มีความรักความเมตตา มีความไม่เบียดเบียน มีความประพฤติชอบ และมีความสงบสุข อันเป็นรากฐานที่ดีในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นประโยชน์สุขเพื่อตนเองและเพื่อสังคม
จากการศึกษาพบว่า บุคคลสามารถประยุกต์องค์ความรู้ เกี่ยวกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ในการมีพฤติกรรม ๔ ด้าน เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาตน ให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่พึงประสงค์ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตนเอง องค์กร และ สังคมอย่างแท้จริง
ดาวน์โหลด |