บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับวัด สถานะทางกฎหมายของวัดและศาสนสมบัติกลาง ศึกษาการบริหารการจัดประโยชน์ศาสนสมบัติ และศึกษามาตรทางกฎหมาย ในการบริหารจัดการศาสนสมบัติ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการศึกษาวิจัยเชิงเอกสาร และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ (Key Informant) จำนวน ๒๒ รูป/ท่าน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structured Interview Form) จำนวน ๑ ชุด สำหรับสัมภาษณ์พระสังฆาธิการและผู้ที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท (Content analysis Technique) ตามโครงสร้างของแบบสัมภาษณ์ประกอบการสังเกตของผู้วิจัย
ผลการวิจัยพบว่า
๑.กรณีการบริหารจัดการศาสนสมบัติของวัดมีพระสงฆ์นั้น มี”หลักการ” และมี “วิธีการ” ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์และกฎกระทรวง ดังนั้น เจ้าอาวาสจึงมีอำนาจในการบริหารจัดการศาสนสมบัติของวัดอันมีศาสนกิจหลัก และสามารถจัดกิจกรรมอื่น ๆ อันเป็นรายได้ ของวัดเพื่อนำปัจจัยมาทำนุบำรุงรักษาดูแลวัดได้ ในกรอบแห่งกฎหมายและพระธรรมวินัย โดยมีหลักการและวิธีการในการจัดการศาสนสมบัติของวัดไว้เพียงกว้าง ๆ เท่านั้น และกำหนดเพียงหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการศาสนสมบัติของวัดเฉพาะในกรณีของการเช่าเท่านั้น ไม่รวมถึงการทำนิติกรรมสัญญาอื่น ๆเช่น ซื้อขาย แลกเปลี่ยน เป็นต้น นอกจากนี้ กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม บางส่วนไม่เหมาะสม เห็นควรแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะกับสภาพปัจจุบัน เช่น การควบคุมตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจของผู้เกี่ยวข้องกับวัด เป็นต้น
๒. กรณีการบริหารจัดการศาสนสมบัติของวัดร้าง มีหลักการ คือให้สำนักงานพระพุทธ -ศาสนาแห่งชาติมีหน้าที่ปกครองดูรักษาที่วัดร้าง ที่ธรณีสงฆ์ รวมถึงทรัพย์สินของวัดนั้นด้วย เมื่อวัดร้าง คือวัดที่ไม่มีพระภิกษุอยู่อาศัย ตราบใดที่ยังไม่มีการยุบเลิกวัด หรือรวมกับวัดอื่น กฎหมายระบุให้ฝ่ายราชอาณาจักรปกครองดูแลรักษา ทำหน้าที่เสมือนเจ้าอาวาสวัดร้างนั้น แต่จากการศึกษาพบว่ายังไม่มี “วิธีการ”ในการปกครองดูแลรักษาเช่นวัดมีพระสงฆ์ เมื่อวัดร้างยังมีฐานะเป็นนิติบุคคล ดังนั้น จึงควรนำมาตรการทางกฎหมายคือ วิธีการจัดการศาสนสมบัติของวัดมีพระสงฆ์ตามข้อ ๑ มาปรับใช้เท่าที่จำเป็น ซึ่งบทบัญญัติมาตรา ๔๐ (๒) ระบุไว้ชัดว่า “ทรัพย์สินของวัด ได้แก่ ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง” ซึ่งรวมถึงวัดร้างด้วย จึงไม่ควรนำไปรวมกับศาสนสมบัติอื่น
๓. กรณีการบริหารจัดศาสนสมบัติกลาง มีหลักการคือ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติกลาง เนื่องจากศาสนสมบัติกลาง ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย บทบัญญัติมาตรา ๔๐ วรรคสอง จึงให้ถือว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นเจ้าของศาสนสมบัติกลางนั้นด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตัดปัญหาเกี่ยวกับ
สิทธิในการทำนิติกรรม และการดำเนินคดีทางศาลเกี่ยวกับศาสนสมบัติกลาง แต่หาได้มุ่งหมายจะให้เป็นเจ้าของศาสนสมบัติกลางแท้จริงไม่ และไม่มีบทบัญญัติกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการใน
การบริหารจัดการศาสนสมบัติกลางไว้เช่นกัน ปัจจุบันดำเนินการตามกฎหมายทั่วไป จึงขอเสนอแนะให้แก้ไขปรับปรุงโดยมีองค์กรหรือคณะบุคคลเป็นผู้บริหารศาสนสมบัติ อาจจะกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการ มีกระบวนการในการตรวจสอบ กำกับดูแล และประเมินผลการบริหารจัดการ เป็นต้น
นอกจากนี้ เมื่อรัฐมีหน้าที่ให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาตาม มาตรา ๗๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ดังนั้น จึงต้องมีพระราชบัญญัติ “อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา หรือพระราชบัญญัติอื่น ๆ เพื่อเป็นหลักในการบริหาร และเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ รวมถึงกฎกระทรวงฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๑๑) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เป็นการเฉพาะ สำหรับกระบวนการบริหารจัดการศาสนสมบัติวัดและศาสนสมบัติกลาง ให้ครอบคุลมและเหมาะสมกับสถานะของวัดและสภาพเศรษฐกิจของสังคมไทยในปัจจุบัน
ดาวน์โหลด |