บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ (๑) เพื่อศึกษาภาวะผู้นำตามหลักสังคหวัตถุ ๔ (๒) เพื่อเปรียบเทียบภาวะผู้นำตามหลักสังคหวัตถุ ๔ โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล (๓) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาภาวะผู้นำตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา ในอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนมัธยมศึกษาในอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน ๒๗๐ คน โดยการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น โดยมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๙๙๑ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) การทดสอบค่าเอฟ (F-test) ด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) และเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่โดยวิธีผลต่างนัยสำคัญที่น้อยที่สุด (Least Significant Difference: LSD.)
ผลจากการวิจัยพบว่า
ภาวะผู้นำตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาในอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = ๔.๐๒) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน คือ ด้านทาน ด้านปิยวาจา ด้านอัตถจริยา และด้านสมานัตตตา พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน
ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของบุคลากรต่อภาวะผู้นำตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาในอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยจำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล พบว่า บุคลากรที่มีเพศ อายุ ระดับการศึกษา บุคลากรทางการศึกษา และประสบการณ์ทำงาน มีความคิดเห็นต่อภาวะผู้นำตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาในอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ไม่แตกต่างกัน ซึ่งปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้
แนวทางการพัฒนาภาวะผู้นำตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาในอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ พบว่า ผู้บริหารโรงเรียนต้องตระหนักถึงความรู้สึกอันละเอียดอ่อนของบุคคลเป็นหลัก ใช้วิธีการพูดอย่างมีวาทศิลป์ในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และในการบริหารงานบุคคลควรใช้วิธีการจูงใจบุคลากรให้ปฏิบัติงานตามที่มอบหมายมากกว่าสั่งการ ควรใช้วิธีการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่หลากหลายอย่างสร้างสรรค์ เช่น การบริหารงานหรือการให้บริการที่รวดเร็วก็เป็นการสร้างความประทับใจแก่ผู้ร่วมงาน และไม่ควรเย่อหยิ่ง หรือวางตัวสูงกว่าผู้ใต้บังบัญชามากจนเกินไป และควรสร้างความสามัคคีในหมู่คณะให้เกิดขึ้น สร้างความเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนกับสังคมหรือองค์กรภายนอกเพื่อประสานสัมพันธ์ไมตรีระหว่างโรงเรียนกับชุมชนหรือองค์การให้เกิดขึ้น
ดาวน์โหลด
|