บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการวิจัยเอกสารซึ่งมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อศึกษาความเป็นมนุษย์ในพุทธปรัชญาเถรวาท หน้าที่ของความเป็นมนุษย์ในพุทธปรัชญาเถรวาท และ วิเคราะห์หน้าที่ความเป็นมนุษย์ในพุทธปรัชญาเถรวาท ผลการศึกษาพบว่า
ความเป็นมนุษย์ในพุทธปรัชญาเถรวาท กล่าวคือ ความหมายของมนุษย์ในพุทธปรัชญาเถรวาท หมายถึง มนุษย์เป็นสัตว์สังคมและมนุษย์สามารถหลุดพ้นได้โดยจิต ซึ่งความสำคัญของมนุษย์ในพุทธปรัชญาเถรวาท เน้นที่ตัวมนุษย์เป็นสำคัญ หรือมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางของคำสอนและมีการฝึกฝนพัฒนาด้านจิตใจและปัญญาตามลำดับ ความเป็นผู้มีกาย, ศีล, จิตและปัญญาที่พัฒนาแล้วเท่านั้น จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์ และที่สำคัญมนุษย์ไม่ได้มีการดำเนินไปอย่างเลื่อนลอยโดยไม่มีกฏเกณฑ์อะไร แต่ดำเนินชีวิตอย่างมีระเบียบและตามกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ซึ่งมนุษย์ได้สร้างหลักประกันความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวคือ มนุษย์มีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น และถือหลักสิทธิมนุษยชน หลักเสรีภาพ และ เพื่อให้การพัฒนามนุษย์เป็นไปอย่างสมบูรณ์และปลอดภัยในชีวิต
หน้าที่ความเป็นมนุษย์ในพุทธปรัชญาเถรวาท กล่าวได้ว่า ความเป็นมนุษย์ในพุทธปรัชญาเถรวาทนั้นตามความหมายของหน้าที่มนุษย์ คือ สิ่งที่ต้องทำ หน้าที่ของมนุษย์ก็มีอยู่เพียงสองอย่างเท่านั้น คือ หน้าที่ที่ต้องทำแก่ตนเองอย่างหนึ่ง และหน้าที่ที่ต้องทำให้แก่คนอื่นอย่างหนึ่ง เพราะความสำคัญของหน้าที่มนุษย์นั้นอยู่ที่การนำเอาหลักธรรมมาปรับใช้ให้เหมาะสม โดยลักษณะหน้าที่ของมนุษย์ คือการแสวงหาความดีและให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในหน้าที่ ซึ่งมนุษย์จะต้องรักษาศีล และการกระทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่
วิเคราะห์หน้าที่ความเป็นมนุษย์ในพุทธปรัชญาเถรวาท กล่าวคือ การทำหน้าที่ของมนุษย์จะเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของตนเองและความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ ซึ่งจำแนกหน้าที่ออกได้เป็น ๖ ประการ คือ (๑) หน้าที่ของบิดา มารดา (๒) หน้าที่ของครูบา อาจารย์ (๓) หน้าที่ของภรรยา บุตร (๔) หน้าที่ของมิตร สหาย (๕) หน้าที่ของบ่าว ไพร่ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และ (๖) หน้าที่พระสงฆ์ สมณะพราหมณ์ หรือ นักบวช ซึ่งหลักพุทธปรัชญาเถรวาทได้กล่าวถึงมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้น คือ จะต้องอาศัยการทำหน้าที่ของตนให้ดีก่อน และรู้จักนำเอาหลักธรรมมาปรับใช้กับหน้าที่ของตน มนุษย์จึงจะมีความความสมบูรณ์ในการทำหน้าที่ให้กับผู้อื่นต่อไป
ดาวน์โหลด |