บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มี ๓ จุดประสงค์เพื่อศึกษา คือ (๑) แนวความคิดเรื่องเสรีภาพในปรัชญาของฌอง-ปอล ซาร์ตร์ (๒) แนวความคิดเรื่องเสรีภาพในพุทธปรัชญาของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) และ (๓) เปรียบเทียบแนวคิดเสรีภาพของฌอง-ปอล ซาร์ตร์ กับของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เน้นศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร โดยสำรวจข้อมูลชั้นปฐมภูมิจากพระไตรปิฎก อรรถกถา สำรวจข้อมูลชั้นทุติยภูมิจากตำราวิชาการ เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
จากการวิจัยพบว่า ของฌอง-ปอล ซาร์ตร์ เห็นว่า มนุษย์ คือ เสรีภาพ ความเป็นจริงของโลกขึ้นอยู่กับความเข้าใจและการแปลความหมายของบุคคลแต่ละคน เมื่อมนุษย์มีเสรีภาพในการเลือกและเป็นการเลือกของตนเอง มนุษย์จึงต้องมีความรับผิดชอบทั้งตนเองและผู้อื่นหรือมนุษยชาติด้วย
แนวคิดเสรีภาพของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) มีหลักว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมด้วยศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้และสามารถจะเปลี่ยนแปลงตนเองจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยชนได้ ถ้าได้รับการศึกษาและพัฒนาที่ถูกต้อง ดังนั้น การบรรลุเสรีภาพในทัศนะพุทธปรัชญาเถรวาทจึงต้องประกอบไปด้วยการฝึกฝนอบรมศีล สมาธิ และปัญญาอย่างสอดคล้องกัน
แนวคิดต่อหลักเสรีภาพของทั้ง ๒ ฝ่ายนั้น มุ่งให้มนุษยชาติดำเนินชีวิตอย่างมีเสรีภาพ ไม่หวังพึ่งพาเทพเจ้าหรือสิ่งเหนือธรรมชาติใดๆ มนุษย์ต้องพึ่งกรรมหรือการกระทำ ที่ตนเองตัดสินใจ ตั้งใจ เลือก และลงมือกระทำ หมายความว่า ทั้งพุทธปรัชญา และปรัชญาของฌอง-ปอล ซาร์ตร์ ได้แสดงให้เห็นว่า โลก และชีวิตของมนุษย์ คือ สิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อการอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข หลักคำสอนเกี่ยวกับเสรีภาพในแนวคิดของทั้ง ๒ ฝ่าย ต่างก็มุ่งให้ผู้ปฏิบัติบรรลุเป้าหมายสำคัญทางเสรีภาพ คือ ความเป็นอิสระ เป็นอยู่ ตัดสินใจ และรับผิดชอบต่อกรรมที่ตนกระทำเต็มที่ เพราะโลกและสังคมจะสุข จะทุกข์ขึ้นอยู่กับการใช้เสรีภาพของมนุษย์
ดาวน์โหลด |