หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาธานินทร์ อาทิตวโร (คำกมล)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๖ ครั้ง
ปัญญาสชาดก เรื่องที่ ๘-๒๗ : การตรวจขำระและศึกษาเชิงวิเคราะห์ (๒๕๔๖)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาธานินทร์ อาทิตวโร (คำกมล) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(บาลี)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาเทียบ สิริญาโณ
  ดร.สมิทธิพล เนตรนิมิตร
  นาย รังษี สุทนต์
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๖
 
บทคัดย่อ

     วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาเชิงวิเคราะห์ตรวจชำระคัมภีร์ปัญญาสชาดกบุรพภาคตั้งแต่เรื่องที่ ๘-๒๗ จำนวน ๒๐ เรื่อง เพื่อให้ได้คัมภีร์ปัญญาสชาดกฉบับบาลีอักษรไทยที่สมบูรณ์ถูกต้องตามหลักภาษาแต่ก็พยายามรักษาตามต้นฉบับของผู้แต่งมากที่สุดเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้ถึงลีลาการแต่งของท่าน
     ผู้วิจัยได้แบ่งเนื้อหาของงานวิจัยออกเป็น ๔ บท ซึ่งแต่ละบทจะอธิบายถึงจุดประสงค์ที่ต้องการศึกษา ดังนี้
     บทที่ ๑ ว่าด้วยความสำคัญและความเป็นมาของปัญหา วิธีดำเนินการวิจัยและตรวจสอบชำระ
     บทที่ ๒ ว่าด้วยการศึกษาเชิงวิเคราะห์คัมภีร์ปัญญาสชาดก ในประเด็นต่างๆ คือ (๑) ต้นฉบับตัวเขียนที่ใช้ในการวิจัยและตรวจชำระ (๒) วิวัฒนาการความเป็นมาของการคัดลอกและการจารต้นฉบับ (๓) ข้อผิดพลาดในการจาร (๔) การเปรียบเทียบปัญญาสชาดกฉบับอักษรขอมทั้ง ๘ ฉบับ เกี่ยวกับ เนื้อหาที่ต่างกัน และสำนวนภาษา (๕) หลักธรรมในพระพุทธศาสนา และคติความเชื่อ
     บทที่ ๓ ว่าด้วยคัมภีร์ปัญญาสชาดกที่ตรวจชำระแล้ว
     บทที่ ๔ ว่าด้วยบทสรุปและข้อเสนอแนะ
     ส่วนภาคผนวกเป็นการแปลสรุปชาดกแต่ละเรื่องเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาสำหรับผู้สนใจ
     ผู้วิจัยได้ศึกษาเปรียบเทียบปัญญาสชาดกฉบับอักษรขอมทั้ง ๘ ฉบับ ในหัวข้อต่อไปนี้
     (๑) เนื้อหาที่ต่างกัน แบ่งเป็น ๓ กรณี คือ กรณีที่ ๑ เนื้อความในฉบับใดฉบับหนึ่งขาดหายไปเพียงฉบับเดียว กรณีที่ ๒ เนื้อความขาดหายไปในที่เดียวกันหลายฉบับ กรณีที่ ๓ เนื้อความฉบับปริวรรตกับฉบับตรวจสอบมีเนื้อความต่างกัน
     (๒) สำนวนภาษา พบว่าผู้แต่งใช้ประโยคกัตตุวาจกเป็นส่วนมาก ใช้คำศัพท์และสำนวนธรรมดา ไม่ยากเกินไป ซึ่งผู้มีความรู้ภาษาบาลีขั้นพื้นฐานก็สามารถอ่านเข้าใจได้ ผู้วิจัยได้แบ่งกลุ่มการเปรียบเทียบลักษณะของสำนวนภาษา โดยอาศัยหลักไวยากรณ์ ซึ่งมีข้อแตกต่างที่นำมาแสดงไว้ ๒ ประเด็น คือ (๑) การใช้กิริยาในประโยค (๒) การใช้ศัพท์ในประโยค
     ส่วนหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ผู้วิจัยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นหลักธรรมขั้นจริยธรรม ศีลธรรม สำหรับผู้อยู่ครองเรือน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อความสงบสุขและความสามัคคีของสังคมที่อยู่ร่วมกัน พอสรุปได้ดังนี้ (๑) วิริยะ ความเพียร, ความบากบั่น (๒) ทาน ทั้งพาหิรทาน และอัชฌัตติกทาน (๓) ความกตัญญูกตเวที (๔) เมตตา ความรัก, ความปรารถนาให้เขามีความสุข (๕) ศีล มี ทั้งศิล ๕ ศิล ๘ หรืออุโบสถศีล (๖) กัลยาณธรรม ๕ ประการสำหรับสตรี (๗) ปติวัตร ความซื่อสัตย์ต่อสามี (๘) ทศพิธราชธรรม
     คติความเชื่อ ความเชื่อของผู้แต่งหรือของคนในสมัยนั้นเท่าที่พบในชาดกทั้ง ๒๐ เรื่องที่ผู้วิจัยได้ศึกษามีดังนี้ (๑) ผลแห่งกรรมที่เคยทำไว้ในกาลก่อน (๒) การเสี่ยงปุสสรถหรือบุษยรถ (๓) เรื่องพระอินทร์ (๔) เรื่องปาฏิหาริย์ (๕) เรื่องบุคคลที่ไม่ควรคบ ๓ ประเภท (๖) เรื่องการทำบุญปล่อยสัตว์ (๗) เรื่องการสร้างพระไตรปิฎก (๘) เรื่องการสร้างและการปิดทองพระพุทธรูป (๙) เรื่องการสร้างศาลาพักริมทาง

Download : 254634.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕