บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่อง “ศึกษาเปรียบเทียบลักษณะการจัดทำวิทยานิพนธ์ของหลักสูตรพุทธศาสนามหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา และสาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ ได้แก่ (๑) เพื่อศึกษาวิเคราะห์รูปแบบ ลักษณะการจัดทำวิทยานิพนธ์ของนิสิตหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา และสาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (๒) เพื่อเปรียบเทียบรูปแบบ รูปแบบการจัดทำวิทยานิพนธ์ของนิสิตหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา และ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
จากการวิจัยพบว่า การเขียนวิทยานิพนธ์ของสาขาวิชาพระพุทธศาสนานั้นมีขั้นตอนและกระบวนการการจัดทำลักษณะเดียวกับสาขาวิชาบริหารการศึกษา แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือลักษณะการวิจัยของสาขาวิชาพระพุทธศาสนาจะเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่มุ่งเน้นการศึกษาถึงสถานการณ์ที่เป็นไปตามความเป็นจริง มีการออกแบบการวิจัยที่ยืดหยุ่น เน้นการวิเคราะห์ข้อมูล ส่วนสาขาวิชาการบริหารการศึกษาส่วนใหญ่จะเป็นวิทยานิพนธ์เชิงปริมาณที่มุ่งเน้นวิธีการค้นหาความรู้และความจริงโดยเน้นที่ข้อมูลเชิงตัวเลขให้มีการควบคุมตัวแปรที่ศึกษา
สำหรับเนื้อหาการวิจัยในสาขาวิชาพระพุทธศาสนา มีวิทยานิพนธ์ที่สำเร็จการศึกษาในช่วงปีพ.ศ. ๒๕๕๑ – ๒๕๕๓ จำนวน ๑๓๒ แบ่งออกเป็น ๓ หมวด คือ (๑) พุทธธรรม จำนวน ๗๒ เล่ม คิดเป็นร้อยละ ๕๔.๕๕ ส่วนใหญ่จะเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ แม้บางเล่มจะมีการผสมระหว่างเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนน้อย (๒) พุทธศิลป์ จำนวน ๕ เล่ม คิดเป็นร้อยละ ๓.๗๙ ซึ่งทั้งหมดเป็นวิทยานิพนธ์เชิงคุณภาพ เกี่ยวกับการศึกษาวิเคราะห์สถาปัตยกรรม ประติมากรรม และศิลปกรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีวิถีชีวิต ค่านิยม จารีต ประเพณี และศิลปวัฒนธรรมไทยเข้ามาเกี่ยวข้อง (๓) ศาสตร์สมัยใหม่ จำนวน ๕๕ เล่ม คิดเป็นร้อยละ ๔๒.๖๗ ส่วนใหญ่เป็นวิทยานิพนธ์เชิงคุณภาพ โดยจะมีศาสตร์อื่นๆ มาบูรณาการกับพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ เป็นต้น
ส่วนเนื้อหาการวิจัยในสาขาวิชาการบริหารการศึกษา มีวิทยานิพนธ์ที่สำเร็จการศึกษาในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๑ – ๒๕๕๓ จำนวน ๕๔ เล่ม แบ่งออกเป็น ๓ หมวด คือ (๑) การบริหารสถานศึกษา จำนวน ๓๕ เล่ม คิดเป็นร้อยละ ๖๘.๕๒ ส่วนใหญ่เป็นวิทยานิพนธ์เชิงปริมาณที่เป็นการตอบโจทย์ของการบริหารสถานศึกษา เช่น การบริหารงานวิชาการ การบริหารงานบุคคล และการบริหารงานทั่วไป เป็นต้น (๒) การบริหารกิจการคณะสงฆ์ จำนวน ๑๐ เล่ม คิดเป็นร้อยละ ๑๔.๘๑ ส่วนใหญ่เป็นวิทยานิพนธ์เชิงปริมาณที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการของคณะสงฆ์ ให้เกิดความสะดวก ความเรียบร้อย และเป็นไปตามพุทธบัญญัติ (๓) การประยุกต์หลักธรรมเข้ากับการบริหาร จำนวน ๙ เล่ม คิดเป็นร้อยละ ๑๖.๖๗ ส่วนใหญ่เป็นวิทยานิพนธ์เชิงปริมาณที่มุ่งเน้นการนำหลักพุทธธรรมมาบูรณาการกับหลักการบริหารการศึกษา
เมื่อเปรียบเทียบทั้ง ๒ สาขาวิชา ในเรื่องลักษณะซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนและกระบวนการจัดทำวิทยานิพนธ์ ลักษณะของการวิจัย เนื้อหาการวิจัย ขอบเขตของเนื้อหา และผลที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย พบว่า มีทั้งส่วนเหมือนกัน และแตกต่างกัน เช่น ผลที่เกิดจากการทำวิทยานิพนธ์ในเรื่องสัมฤทธิผลหรือประสิทธิภาพของการทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งของทั้ง ๒ สาขาวิชา คือมีความเหมือนกันในด้านการเตรียมตัวของผู้สอน การใช้เทคโนโลยีและความสามารถในการจัดกิจกรรมที่หลากหลายจนทำให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจตามสภาพเป็นจริง มีผลต่อสัมฤทธิผล และประสิทธิ์ภาพที่สูงขึ้น ส่วนความแตกต่างในด้านการวัดและประเมินผล โดยการประเมินจากพฤติกรรมที่ร่วมกันปฏิบัติว่าได้พัฒนาถึงขั้นเกิดปัญญาในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม และที่วัดผลออกมาเป็นเพียงความฉลาดทางอารมณ์โดยตีความหมายว่าผู้มีความฉลาดในอารมณ์ที่ดีย่อมหมายถึงลักษณะของผู้ที่มีความสุข ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่ง คือการฝึกปฏิบัติจากกลุ่มตัวอย่างของวิทยานิพนธ์ทั้ง สองประเภทพบว่า วิธีการฝึกอบรมของโครงการค่ายพุทธบุตรจะเป็นการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ปัญญาย่อมเกิดทุกขณะ แต่การฝึกสมาธิที่มีต่อความฉลาดทางอารมณ์ยังต้องกลับมาฝึกอบรมอีกดังนั้น จะเห็นได้ว่าการฝึกอบรมที่หลากหลายวิธีจะพัฒนาผู้เรียนได้ชัดเจนกว่ามีผลสัมฤทธิ์ที่คงทนกว่า เป็นต้น |