บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาการบริหารงานบุคคลตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ ของผู้บริหารสถานศึกษา อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ๒) เปรียบเทียบความคิดเห็นต่อการบริหารงานบุคคลของผู้บริหารสถานศึกษาตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการบริหารงานบุคคลของผู้บริหารสถานศึกษาตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยศึกษากับกลุ่มตัวอย่างจำนวน ๒๔๖ คน ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบโดยการทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที (t-test ) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA ) เมื่อพบว่ามีความแตกต่างกันจึงทำการเปรียบเทียบรายคู่โดยมีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD ) และสรุปข้อมูลปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ โดยวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้
ผลการวิจัยพบว่า ความคิดเห็นของบุคลากรต่อการบริหารงานบุคคลตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ ของผู้บริหารสถานศึกษา อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง จำนวน ๑๕๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๖๐.๙๗ ในส่วนของอายุผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีอายุ ๕๑ ปีขึ้นไป จำนวน ๑๐๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๑.๐๕ ในส่วนของระดับการศึกษาผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ศึกษาในระดับปริญญาตรี จำนวน ๑๘๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๗๓.๑๗ ในส่วนของตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่อยู่ในตำแหน่งครูสอน จำนวน ๒๑๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๘๕.๓๖ ในส่วนของประสบการณ์ในการทำงานผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการทำงาน ๑๕ ปีขึ้นไป จำนวน ๑๑๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๖.๗๔ ในส่วนของขนาดสถานศึกษาผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก จำนวน ๑๔๒ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๗.๗๒ ความคิดเห็นของบุคลากรต่อการบริหารงานบุคคลตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ ของผู้บริหารสถานศึกษา อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยภาพรวมมีความเห็นอยู่ในระดับมาก ( = ๔.๑๔) เมื่อพิจารณารายละเอียดแต่ละด้านพบว่า มีความเห็นอยู่ในระดับมากทุกด้าน
เมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของบุคลากรต่อการบริหารงานบุคคลตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ ของผู้บริหารสถานศึกษา อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา ตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบ ประสบการณ์ในการทำงาน และขนาดสถานศึกษา พบว่า โดยรวมภาพ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ (F = ๓.๐๙๒, Sig = .๐๒๘) ซึ่งตรงตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ เมื่อพิจารณาในแต่ละด้าน พบว่า ด้านปริสัญญุตา และด้านปุคคลัญญุตา ไม่แตกต่างกัน ส่วนในด้านที่เหลืออื่น ๆ ทุกด้าน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
มีข้อเสนอแนะ คือ ๑) ผู้บริหารควรวางแผนการจัดการบริหารอย่างเป็นระบบและสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้ ๒) ผู้บริหารควรยึดหลักธรรมที่ส่งเสริมการบริหารการจัดการเกี่ยวกับงานบุคคล เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือแก่ตัวผู้บริหาร และความโปร่งใสในการบริหารงานบุคคล ๓) ผู้บริหารควรพัฒนาตนเอง และส่งเสริมให้ผู้อื่นมีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าและพัฒนาองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ๔) ผู้บริหารควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารเวลา และจัดลำดับความสำคัญของงานได้อย่างเหมาะสม ๕) ผู้บริหารควรศึกษาเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้องและสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย
ดาวน์โหลด
|