การศึกษาเรื่องแม่ในวรรณคดีบาลี เป็นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเป็นแม่ตามหลักธรรมในพระไตรปิฎก พร้อมทั้งอรรถกถา ฎีกา และปกรณวิเสสอื่นๆ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้แบ่งการศึกษาวิจัยออกเป็น ๕ บท ดังต่อไปนี้ บทที่ ๑ ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา วัตถุประสงค์ของการวิจัยคำจำกัดความของศัพท์ที่ใช้ในการวิจัย ทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง วิธีดำเนินการวิจัย และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ บทที่ ๒ กำเนิดมนุษย์ การตั้งครรภ์ การรักษาครรภ์ และลูกที่ต้องการ บทที่ ๓ การปฏิบัติหน้าที่แม่ในฐานะเป็นพรหม เทพ อาจารย์ อาหุไนยบุคคล ทิศเบื้องหน้า บุพพการี และเป็นมิตรของลูก บทที่ ๔ พระนางมหามายาเทวี พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางยโสธรา พระวัฑฒมาตาเถรี นางพหุปุตติกามหาอุปาสิกา นางกิสาโคตมี พระเถรีแม่ของพระกุมารกัสสปเถร พระนางสุปปวาสา และแม่ของสามเณรสานุ บทที่ ๕ สรุปผลการวิจัย และข้อเสนอแนะ ผลการศึกษาสรุปได้ว่า ความเป็นแม่มีความเป็นผู้ยังลูกให้เกิดเป็นเครื่องกำหนดมีการเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ มีการเกี่ยวข้องกับลูกเป็นสภาพปรากฏ และมีความรักในลูกเป็นพื้นฐาน และพบว่าแม่และพ่อลำบากเหน็ดเหนื่อยเพื่อลูกโดยประการต่างๆ ดังนั้น แม่และพ่อจึงเป็นบุคคลที่ลูกควรเคารพนับถือ